ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
07 กันยายน 2565

หายใจหอบถี่บ่อยครั้งต้องเช็ก! เป็นโรคหอบหืดหรือไม่ ต้องดูแลตัวเองอย่างไร

หากใครที่มีอาการหายใจถี่ แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงหวีด รู้สึกเหนื่อยหอบเป็นประจำ ไอจนต้องสะดุ้งตื่นกลางดึกอยู่บ่อยครั้ง อาการเป็น ๆ หาย ๆ นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหอบหืด วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจโรคนี้พร้อมวิธีการดูแลตัวเองกัน

 

โรคหอบหืดคืออะไร

              โรคหอบหืดมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “โรคหืด” (Asthma) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุผนังหลอดลม ทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดการหดตัวหรือตีบตัน และไวต่อสิ่งกระตุ้นจากสภาพแวดล้อม หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายได้มากกว่าคนปกติ เกิดอาการหายใจลำบาก หายใจไม่เต็มอิ่ม ไอและรู้สึกเจ็บหน้าอก

                  โรคหอบหืดมีโอกาสเกิดได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ อาการของผู้ป่วยจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถไปเรียนหรือทำงานได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถเล่นกีฬาได้เท่าที่ควร ถ้าเกิดขึ้นในเด็กก็อาจจะทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าเนื่องจากพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ และเมื่อผู้ป่วยเจอมลภาวะมากก็จะยิ่งส่งผลให้อาการยิ่งเลวร้าย ยิ่งผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเท่าไหร่ โอกาสที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิตก็มีมากยิ่งขึ้น

 

สาเหตุของโรคหอบหืด

สาเหตุของโรคหอบหืดมีหลายปัจจัย ได้แก่

·       พันธุกรรม - ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหอบหืด มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป เพราะหอบหืดเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

·       โรคภูมิแพ้ – โดยสามารถถูกกระตุ้นได้จากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ  ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น ขนสัตว์เลี้ยงอย่างแมวหรือสุนัข ไรฝุ่นบ้าน แมลงสาบ สปอร์เชื้อรา ละอองเกสรดอกไม้  ละอองหญ้า อาหารบางชนิด เป็นต้น

·       สารเคมี - กลิ่นสี ยาฆ่าแมลง สเปรย์แต่งผม ควันบุหรี่ ควันธูป ควันไฟ มลพิษ สารเคมีภายในบ้านหรือที่ทำงาน

·       สารในกลุ่มซัลไฟต์ (Sulfites) และสารกันบูด สารที่เจือปนในอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด เช่น ผลไม้แห้ง เบียร์ ไวน์

·       การออกกำลังกายที่หักโหมเกินไป หรือการทำกิจกรรมที่ออกแรงมาก ๆ หรือแม้แต่การหัวเราะมาก ๆ โดยเฉพาะในฟิตเนสที่มีอากาศเย็น เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก เนื่องจากเยื่อบุทางเดินหายใจแห้ง ส่งผลให้อาการกำเริบง่ายขึ้น

·       สภาวะทางอารมณ์ – โดยเฉพาะความเครียดที่ส่งผลให้หายใจผิดปกติโดยไม่รู้ตัว

·       ฮอร์โมนเพศ - พบในเพศหญิงระยะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ระยะก่อนมีประจำเดือน หรือในขณะตั้งครรภ์ช่วงสัปดาห์ที่ 24-36

·       โรคกรดไหลย้อน – เมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารจนเกิดอาการแสบร้อนในอก ส่งผลให้อาการหอบหืดกำเริบขึ้นได้

·       โรคทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ได้รับเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ ทอนซิลอักเสบ เป็นต้น

·       ยาบางชนิด - ยาแอสไพริน ยาลดความดันโลหิตกลุ่มปิดกั้นเบต้า และยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน เป็นต้น

·       การสัมผัสอากาศเย็น เช่น อยู่ในห้องแอร์หรือไปเที่ยวประเทศที่มีอากาศหนาว เนื่องจากอากาศเย็นมักจะแห้งหรือไม่มีความชื้น กระตุ้นให้หลอดลมหดตัว ผู้ป่วยจึงหายใจลำบากนั่นเอง

 

อาการของโรคหอบหืด

หากเริ่มมีอาการดังต่อไปนี้ อให้ตั้งข้อสงสัยไว้ได้เลยว่าคุณอาจจะมีอาการของโรคหอบหืด

•       ได้ยินเสียงหายใจดังหวีดคล้ายเสียงนกหวีดมากกว่าเดือนละ 1 ครั้ง

•       ไอบ่อย รู้สึกเหนื่อยง่าย ได้ยินเสียงหายใจหวีดขณะวิ่งหรือออกกำลังกาย

•       ไอตอนกลางคืนโดยที่ไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อทางทางเดินหายใจ ทำให้นอนไม่เต็มอิ่มหรือรู้สึกสะดุ้งตื่นกลางดึก

•       แน่นหน้าอก หายใจติดขัด หายใจไม่เต็มอิ่ม หรือมีอาการเหนื่อยหอบที่เป็นซ้ำ ๆ

•       มีอาการต่อเนื่องหลังอายุ 3 ปี

•       อาการกำเริบเมื่อเจอสิ่งเร้า เช่น ควันบุหรี่ ไรฝุ่นบ้าน ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ ความเครียด เป็นต้น

•       เมื่อเป็นหวัดจะมีอาการต่อเนื่องกันเกิน 10 วัน หรือมีอาการไอรุนแรง

•       มีอาการหวัดลงปอดหรือติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนล่างซ้ำ ๆ โดยมักจะมีอาการหายใจลำบากร่วมกับอาการของไข้หวัด

•       อาการดีขึ้นเมื่อใช้ยารักษาโรคหอบหืด

 

ระดับความรุนแรงของโรคหอบหืด

              ระดับความรุนแรงของโรคหอบหืดวัดได้จากความถี่ของอาการหอบในตอนกลางวันและตอนกลางคืน การวัดสมรรถภาพของปอด การวัดค่าความผันผวนของอัตราการไหลของลมหายใจออกสูงสุด หลังจากสูดลมหายใจเข้าเต็มที่หรือ  PEFR (Peak Expiratory Flow Rate) มีหน่วยเป็นลิตร/นาที ผู้ป่วยสามารถวัดได้จากเครื่อง Peak Flow Meter หรืออุปกรณ์ทดสอบสมรรถภาพปอด โดยเครื่องวัดจะมีแถบด้านข้างแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ สีเขียว (ค่า PEFR มากกว่า 80%) สีเหลือง (ค่า PEFR ระหว่าง 50 – 80%) และสีแดง (ค่า PEFR น้อยกว่า 50%) ซึ่งระดับความรุนแรงของโรคหอบหืดแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับดังนี้

1.        ระดับเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการนาน ๆ ครั้ง (Intermittent Asthma)

-           อาการหอบกลางวันจะเกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง

-           อาการหอบกลางคืนเกิดขึ้นน้อยกว่า 2 ครั้ง/เดือน

-           ค่า PEFR – มากกว่า 80% (แถบสีเขียว)

-           ค่าความผันผวน - น้อยกว่า 20%

2.        ระดับรุนแรงน้อย  (Mild Persistent Asthma)

-           อาการหอบกลางวันเกิดมากกว่า 8 ครั้ง/เดือน

-           อาการหอบกลางคืนเกิด มากกว่า 2 ครั้ง/เดือน

-           ค่า PEFR – มากกว่า 80% (แถบสีเขียว)

-           ค่าความผันผวน – 20-30%

3.        ระดับรุนแรงปานกลาง  (Moderate Persistent Asthma)

-           อาการหอบกลางวันเกิดเกือบทุกวัน

-           อาการหอบกลางคืนเกิดมากกว่า 4 ครั้ง/เดือน

-           ค่า PEFR – 50-80% (แถบสีเหลือง)

-           ค่าความผันผวน – มากกว่า 30%

4.        ระดับรุนแรงมาก (Severe Persistent Asthma)

-           อาการหอบกลางวันเกิดขั้นตลอดเวลา

-           อาการหอบกลางคืนเกิดบ่อยครั้ง

-           ค่า PEFR – น้อยกว่า 50% (แถบสีแดง)

-           ค่าความผันผวน – มากกว่า 30%

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหอบหืด

โดยทั่วไปจะไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเรื้อรังอาจจะเกิดสภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้

·       ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อย ได้แก่ ภาวะขาดน้ำ ภาวะปอดแฟบ (Atelectasis) ภาวะหมดแรง (Exhaustion) และการติดเชื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ปอดหรือหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ เป็นต้น

·       ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง ได้แก่ ภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน มักเกิดกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

·       ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ  ได้แก่ ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะหัวใจล้มเหลวที่เรียกว่า “โรคหัวใจเหตุจากปอด” ภาวะปอดทะลุ ภาวะมีอากาศในประจันอกและใต้หนัง เป็นลมจากการไอ

·       ภาวะแทรกซ้อนในหญิงตั้งครรภ์ หากเกิดโรคหอบหืดขณะตั้งครรภ์และไม่สามารถควบคุมอาการได้ จะทำให้เสี่ยงการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักตัวน้อย ทารกเสียชีวิตในระยะใกล้คลอดหรือหลังคลอด

·       ภาวะแทรกซ้อนจากผลข้างเคียงในการใช้ยารักษาโรคหอบหืดเป็นเวลานาน เกิดปัญหาในการหายใจ ซึ่งเกิดจากการตีบแคบของหลอดลมถาวร ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก

 

วิธีการรักษา

โรคหอบหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นเป้าหมายของการรักษาจึงเป็นการควบคุมอาการให้สงบมากที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุข การรักษาจะพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการ และเลือกยาที่เหมาะสมกับอาการ จำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.        ยาที่ใช้ควบคุมโรคหอบหืด (Controllers) เป็นยาที่ต้องใช้เป็นประจำแม้ไม่มีอาการ เพื่อรักษาอาการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่มนี้ คือ ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูด

2.        ยาที่ใช้บรรเทาอาการโรคหอบหืด (Relievers) เป็นยาขยายหลอดลมที่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัวและขยายตัว ลดอาการไอ เหนื่อยหอบ และหายใจได้สะดวกขึ้น ใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ และไม่มีผลในการลดอาการอักเสบของหลอดลม

ทั้งนี้การเลือกใช้ยาและปริมาณให้เหมาะสมกับอาการควรอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์

 

การดูแลอาการเบื้องต้น

1.        ผู้ป่วยและญาติควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการของโรคหอบหืด รวมไปถึงแจ้งให้คนใกล้ชิดได้ทราบว่าผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืด เช่น ครูประจำชั้น เพื่อนที่โรงเรียน เพื่อนที่ทำงาน เป็นต้น เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันเมื่ออาการกำเริบ

2.        ผู้ป่วยและญาติควรได้รับคำแนะนำเรื่องการใช้ยาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้ดูแลอาการ

3.        สังเกตการหายใจเพื่อรับรู้ถึงสัญญาณเบื้องต้นก่อนอาการหอบหืดจะกำเริบ เช่น การไอ หายใจมีเสียง หายใจสั้น

4.        ผู้ป่วยควรพกยาบรรเทาอาการติดตัวไว้เสมอ หากมีอาการกำเริบให้รีบสูดยา 2-4 หนทันที หากอาการยังไม่ดีขึ้นสามารถสูดซ้ำ1-2 ครั้ง ได้ทุก 20 นาที แต่หากอาการยังไม่ทุเลาลงควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากปล่อยไว้อาจจะเป็นอันตรายได้

5.        รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันปอดบวม เพื่อป้องกันการเกิดโรคซึ่งเป็นตัวกระตุ้นอาการ

6.        หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นโรค และสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ

7.        ฝึกหายใจเข้าออกลึก ๆ เป็นประจำ เพื่อช่วยให้รู้สึกปลอดโปร่งสดชื่น และช่วยให้อาการดีขึ้นได้

8.        ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ห้ามใช้ยานอนหลับและหลีกเลี่ยงการใช้ยาละลายเสมหะ เพราะจะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม

 

การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะกับผู้ที่มีอาการโรคหอบหืด

-           รับประทานอาหารตามโภชนาการเพื่อรักษารูปร่างให้สมส่วน เพราะการมีรูปร่างที่อ้วนเกินไปจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อาการแย่ลงได้ เพราะคนที่มีรูปร่างอ้วนมักจะมีอาการหายใจลำบาก เนื่องจากไขมันส่วนเกินเกิดการสะสมบริเวณปอด ให้ทางเดินหายใจตีบแคบ

-           รับประทานผักและผลไม้เยอะ ๆ เพราะผักและผลไม้เป็นแหล่งรวมสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามินซีและอี ที่ช่วยลดอาการปอดบวมและอักเสบได้

-           ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ ไม่ควรปล่อยให้ขาดน้ำ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการไอมีเสมหะเหนียวหรือมีอาการหอบเหนื่อย

-           หลีกเลี่ยงอาหารที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ และสารในกลุ่มซัลไฟต์ (Sulfites) เช่น ไวน์ ผลไม้แห้ง ผักดอง กุ้งสดและแช่แข็ง เป็นต้น

-           รับประทานอาหารที่มีวิตามินดีสูง เช่น ไข่ นม ปลาต่าง ๆ เช่น ปลาแซลมอน รวมไปถึงการรับวิตามินจากแสงแดดด้วย เพราะงานวิจัยระบุว่าวิตามินดีมีส่วนช่วยป้องกันอาการหอบหืดรุนแรงกำเริบ

 

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคหอบหืดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานอาจจะมีสภาวะหลอดลมเปลี่ยนแปลงรูปร่างและการทำงานไป ทำให้สมรรถภาพปอดของผู้ป่วยจะต่ำกว่าปกติและหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างถาวร ดังนั้นการสังเกตอาการและการเข้ารับการรักษาแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ได้กับบริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Emma by AXA และกดปุ่ม “TeleHealth” พร้อมยืนยันหมายเลขกรมธรรม์ในครั้งแรกที่ใช้ รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/telehealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/asthma

·       งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3NtMl1f

·       โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/asthma

·       Mayo Clinic
https://mayocl.in/3JWRNHA
https://mayocl.in/3KkYfYm

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/36Ck5sL
https://bit.ly/3KbGc72

·       MedThai
https://bit.ly/3LyMoal

·       King’s College London
https://bit.ly/36HxnnO

 

 

บทความสุขภาพที่สำคัญ