ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
17 สิงหาคม 2565

โพรไบโอติกส์ จุลินทรีย์ ‘ตัวดี’ ช่วยระบบทางเดินอาหารและภูมิคุ้มกัน

เชื่อว่าคนรักสุขภาพคงคุ้นกับจุลินทรีย์ที่มีชื่อว่า ‘ไพรไบโอติกส์’ เป็นอย่างดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะมีอยู่ในอาหารยอดฮิตอย่างโยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ หรือมิโซะ ทุกวันนี้เรายังสามารถเลือกบริโภคได้ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นก่อนจะตัดสินใจซื้อโพรไบโอติกส์มาเสริมการดูแลสุขภาพ ทุกคนควรจะทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับจุลินทรีย์ ‘ตัวดี’ นี้ เพื่อความมั่นใจในเบื้องต้นว่าจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

 

ทำความรู้จักกับโพรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์ตัวดี

                ภายในร่างกายของเรามีทั้งจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ซึ่งโพรไบโอติกส์ (Probiotics) คือหนึ่งในจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สำหรับการดูแลสุขภาพ มากไปกว่านั้นยังมีคุณสมบัติประจำตัวที่โดดเด่น นั่นคือความทนต่อกรดและด่าง โดยจะอยู่บริเวณผิวของเยื่อบุลำไส้มีหน้าที่ในการผลิตสารที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อโรคได้ เราสามารถพบจุลินทรีย์ชนิดนี้ได้ในอาหารชนิดต่าง ๆ ที่กล่าวไปเบื้องต้น รวมไปถึงการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์ในรูปของแคปซูล ผงแป้ง และยาเม็ดเคี้ยว เป็นต้น 

 

โพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ต่างกันอย่างไร

                พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ไม่ใช่จุลินทรีย์แต่เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ลำไส้เล็กของเราไม่สามารถดูดซึมหรือย่อยได้ พรีไบโอติกส์จึงเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ได้โดยไม่ถูกย่อย แต่จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า พรีไบโอติกส์คืออาหารของจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์นั่นเอง ดังนั้นพรีไบโอติกส์ช่วยให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์เจริญเติบได้ดีและทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้กำจัดจุลินทรย์ที่ไม่ดีได้ดีขึ้นนั่นเอง โดยพรีไบโอติกส์สามารถพบได้ใน หัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ไฟเบอร์ในผักและผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น

 

จุลินทรีย์ในกลุ่มโพรไบโอติกส์

                มีจุลินทรีย์หลายชนิดที่อยู่ในกลุ่มของโพรไบโอติกส์ แต่จะมีอยู่ไม่มากที่ได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยในระดับที่วางใจได้ และเป็นที่นิยมในการนำไปเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หากได้ยินหรือเห็นชื่อ เชื่อว่าหลายคนต้องคุ้นหูคุ้นตากันบ้าง เช่น

 

·         แลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus)
จุลินทรีย์ชนิดนี้มีมากกว่า 50 สายพันธุ์ ปกติอาศัยอยู่ในระบบย่อยอาหาร ทางเดินปัสสาวะ และอวัยวะเพศ จากการศึกษาพบว่าจุลินทรีย์แลคโตบาซิลลัสบางสายพันธุ์มีส่วนช่วยในการบรรเทาหรือป้องกันปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน อาการท้องเสียจากสาเหตุต่าง ๆ และภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยนม เป็นต้น ซึ่งจุลินทรีย์ชนิดนี้สามารถพบได้ในโยเกิร์ต นมเปรี้ยว แหนม ไส้กรอกอีสาน ผักผลไม้ดอง กิมจิ เป็นต้น

·         สเตปค็อกคัสเธอร์โมฟิลัส (Streptococcus Thermophilus)
สเตปค็อกคัสเธอร์โมฟิลัสเป็นจุลินทรีย์ที่มีส่วนในการสร้างเอนไซม์แลคเตส ซึ่งช่วยในการย่อยน้ำตาลแลคเตสในน้ำนม สำหรับผู้มีภาวะไม่ทนทานต่อน้ำตาลแลคโตส ที่ต้องเผชิญกับอาการปวดท้อง ท้องอืด และท้องเสียเมื่อดื่มนม พบได้ในผลิตภัณฑ์ที่หมักจากนม เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต เนยแข็ง

·         บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria)
มีจุลินทรีย์ประมาณ 30 สายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มของบิฟิโดแบคทีเรีย โดยพบได้ในบริเวณลำไส้ใหญ่ภายในระบบทางเดินอาหารของทารก โดยเฉพาะในรายที่ดื่มนมแม่ จุลินทรีย์ชนิดนี้มีความสามารถในการช่วยควบคุมน้ำตาล ไขมัน และบรรเทาอาการกลุ่มโรคลำไส้แปรปรวน พบได้ในโยเกิร์ต  มิโซะ ผักดอง กิมจิ ไวน์บางชนิด กะหล่ำปลีดอง และ ขนมปังเปรี้ยว (Sourdough Bread)

 

 

 

ประโยชน์ของโพรไบโอติกส์

                จากข้อมูลเกี่ยวกับจุลินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ข้างต้น จะเห็นว่าประโยชน์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับระบบต่าง ๆ ในบริเวณช่องท้อง ทั้งสร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้ กระตุ้นการย่อยอาหาร ช่วยสร้างสมดุลจุลินทรีย์ ยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรค บรรเทาโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการลำไส้แปรปรวน กรดไหลย้อน ท้องผูก ท้องร่วง และภาวะไม่ทนต่อน้ำตาลแล็กโทส

                แต่ที่จริงแล้วโพรไบโอติกส์ยังเป็นประโยชน์กับระบบอื่น ๆ ของร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบภูมิคุ้มกัน ที่จะได้รับการเหนี่ยวนำและกระตุ้นให้เกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น บรรเทาโรคทางอวัยวะสืบพันธุ์ และโรคทางระบบทางเดินปัสสาวะ เหนือสิ่งอื่นใดคือ สร้างสมดุลให้กับทุกระบบของร่างกายของเรา หากใครที่กำลังมองหาส่วนเสริมในการดูแลสุขภาพ จุลินทรีย์ตัวนี้นับเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ โดยสามารถรับประทานได้ทั้งจากอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโพรไบโอติกส์ที่มีจำหน่ายอยู่มากมายในปัจจุบัน

 

จะเห็นได้ว่าโพรไบโอติกส์นอกจากจะช่วยในเรื่องระบบทางเดินอาหารแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างระบบอื่น ๆ ของร่างกายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันที่เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในยุคที่มีการระบาดของ COVID-19 นี้ อีกทั้งอย่าลืมรักษาสุขภาพแร่างกายให้แข็งแรงด้วยการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพออีกด้วย

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·         โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/july-2019/probiotics-and-prebiotics

·         โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://phuketinternationalhospital.com/probiotics-prebiotics/

·         เว็บไซต์พบแพทย์
https://www.pobpad.com/probiotics

·         คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
https://pharm.tu.ac.th/uploads/pharm/pdf/articles/20181002_4.pdf

·         Food Solution Network
https://bit.ly/38vt8N7
https://bit.ly/3llcFxI

 

บทความสุขภาพที่สำคัญ