ชาวออฟฟิศหลายคนอาจมีปัญหาหนังศีรษะแห้งจนเกิดรังแคที่คอยกวนใจ ต้องกังวลทุกครั้งที่ใส่เสื้อผ้าสีดำ หรือเกาศีรษะทีไรก็มีละอองหิมะร่วงลงมา ชาวออฟฟิศที่กำลังถูกลดทอนความมั่นใจจากปัญหารังแค ต้องไม่พลาดความรู้ที่เรานำมาฝากในครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักกับรังแคตั้งแต่สาเหตุ วิธีจัดการ รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการเกิดเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่แค่รังแค
รังแคที่ใคร ๆ ก็แคร์
ตัวการร้ายลดความมั่นใจที่มีชื่อว่ารังแค คือ ขุยหรือสะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะที่พบได้ในบริเวณโคนผม เส้นผม หรืออาจร่วงลงมาเกาะบนปกเสื้อ บ่าและไหล่ ซึ่งเกิดจากการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวของผิวหนังชั้นบนสุดของหนังศีรษะที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งโดยปกติแล้ววงจรการผลัดเซลล์ผิวบนหนังศีรษะจะมีระยะเวลาประมาณ 28 วัน และจะค่อย ๆ ผลัดหลุดไป เราจึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เมื่อวงจรการผลัดเซลล์ผิวเกิดเร็วขึ้นและเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน ทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วหรือสะเก็ดสีขาวมีปริมาณมากขึ้นและก่อตัวเป็นแผ่น จึงสามารถสังเกตเห็นได้ชัดขึ้น และในบางคนอาจมีอาการคันร่วมด้วย โดยมีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแค เช่น การติดเชื้อรา หนังศีรษะมีความมันหรือแห้งมากเกินไป แพ้สารเคมี แพ้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมต่าง ๆ เป็นต้น
แค่รังแค หรือป่วยเป็นโรคอื่น
นอกจากทำให้หลายคนเกิดความรำคาญจากอาการคันและสูญเสียความมั่นใจ รังแคยังอาจเป็นสิ่งบ่งว่าร่างกายของเรากำลังป่วยเป็นโรคอื่น เช่น หากมีสะเก็ดผิวหนังหลุดลอกมากขึ้นกว่าปกติและมีอาการอักเสบร่วมด้วย เช่น ผื่นแดง คัน และมีสะเก็ดลอกบริเวณหนังศีรษะ แสดงว่าอาจเป็นโรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) ซึ่งนอกจากนี้ยังสามารถพบผื่นได้ในบริเวณอื่นของร่างกายที่มีต่อมไขมัน เช่น ข้างจมูก คิ้ว หลังหู ขาหนีบ รักแร้ เป็นต้น โดยการอักเสบนี้อาจเกิดได้จากการแพ้สารเคมี
อีกหนึ่งโรคที่มีอาการสะเก็ดจากหนังศีรษะหลุดร่วงเช่นกัน คือ โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติของการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนัง ที่ได้รับการกระตุ้นจากเซลล์เม็ดเลือกขาวที่มีชื่อว่า ลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวเร็วว่าปกติจนเกิดอาการอักเสบบนผิวหนังและหลุดลอกออกมาเป็นสะเก็ดนั่นเอง ซึ่งบริเวณหนังศีรษะก็เป็นอีกบริเวณหนึ่งที่สามารถเกิดอาการอักเสบและลอกออกมาเป็นขุยได้ ดังนั้นถ้าหากใครมีรังแค ร่วมกับอาการอักเสบเป็นผื่นแดงจนตกสะเก็ดสีขาว รวมถึงรู้สึกแสบร้อนและคันบริเวณผิวหนัง แสดงว่าคุณอาจเป็นโรคสะเก็ดเงิน
หลากหลายวิธีจัดการรังแค
สำหรับการดูแลเบื้องต้น ให้เลี่ยงการสระผมด้วยน้ำอุ่น เลี่ยงการเกาบริเวณหนังศีรษะแรง ๆ และหลังสระผมต้องใช้ครีมนวดผมทุกครั้ง และควรนวดให้ทั่วและทิ้งไว้บนหนังศีรษะประมาณ 15 นาทีก่อนล้างออก นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการรักษาก็คือการเลือกใช้แชมพูที่ช่วยแก้ปัญหาอย่างตรงจุด แนะนำให้ใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของตัวยาที่สามารถลดจำนวนเชื้อราบนศีรษะ ได้แก่
• ยาคีโตโคนาโซล มีฤทธิ์เชื้อราที่เป็นสาเหตุของรังแคได้หลายชนิด
• ซิงค์ไพรีไทออน ช่วยขจัดเชื้อราที่ทำให้เกิดรังแคและผิวหนังอักเสบได้
• ซิลิเนียม นอกจากจะช่วยขจัดเชื้อราแล้วยังมีส่วนช่วยในการชะลอการผลัดเซลล์ของหนังศีรษะอีกด้วย
• น้ำมันดิน (Tar) ที่สามารถลดสะเก็ดได้ดี แต่ก็มีข้อเสีย คือ กลิ่นค่อนข้างแรง และอาจทำให้ผมแห้ง แข็งกระด้าง จึงควรใช้ครีมนวดหลังการสระผมทุกครั้ง
โดยผู้ที่เป็นรังแคควรใช้แชมพูที่เหมาะกับตัวเองเป็นประจำ ในช่วงแรกควรสระผม 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ หลังจากผิวหนังเริ่มชุ่มชื้นขึ้น กลับสู่สภาวะปกติขึ้น รังแคลดลงแล้ว สามารถลดเหลือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยสามารถใช้แชมพูที่มีตัวยาสลับกับแชมพูปกติได้ ที่สำคัญในแต่ละครั้งที่สระผม ควรทิ้งแชมพูที่มีตัวยาไว้บนศีรษะประมาณ 5 นาทีก่อนล้างออกเพื่อให้ตัวยาสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่ แล้วจึงไปต่อที่ขั้นตอนของการใช้ครีมนวดผมต่อไป
ส่วนใครที่ใช้แชมพูที่มีส่วนประกอบข้างต้นมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือนแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการคันอย่างรุนแรงและมีรังแคเพิ่มขึ้น ควรพบแพทย์ที่แผนกผิวหนังเพื่อหาสาเหตุและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถตรวจเช็คอาการเบื้องต้นกับ Symptom Checker ผ่านแอปพลิเคชัน Emma by AXA ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/emma-by-axa
แหล่งที่มาของข้อมูล
• Mayo Clinic
https://mayocl.in/3G5GBWm
https://mayocl.in/3fY0kNb
• คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=555
• เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/33JYddz
https://bit.ly/3FZS0XN
• สำนักงานอาหารและยา
https://bit.ly/3FYqJVD