แม้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่หลายองค์กรยังคงให้พนักงาน Work from Home ต่อไปอีกระยะ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการทำงานที่บ้านทำให้เกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการโหมงานหนักโดยไม่ได้หยุดพัก ต้องจดจ่อกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ Tablet หรือโทรศัพท์มือถือมากกว่าปกติ และมีอยู่ไม่น้อยที่รู้สึกเหนื่อยกว่าการทำงานในออฟฟิศอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เกิดความเหนื่อยล้า เบื่อหน่ายในการทำงานหรือเรียกอีกอย่างว่า Burnout Syndrome นั่นเอง
เครียดเรื้อรังก่อ Burnout Syndrome
ภาวะ Burnout Syndrome หรือหมดไฟในการทำงาน เกิดจากการทำงานหนักมากเกินไปจนเกิดความเครียดสะสมเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ จากที่เคยสนุก มีความตั้งใจ หรือมีแรงบันดาลใจในการทำงาน ก็กลับกลายเป็นรู้สึกเหนื่อยล้า และไม่อยากทำงาน ไปจนกระทั่งมองการทำงานในแง่ลบ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถเพียงพอ และไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน รวมถึงรู้สึกเหินห่างจากคนอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ร่วมงาน หรือลูกค้า

1. ระยะฮันนีมูน (The Honeymoon) เป็นช่วงเริ่มต้นของการทำงาน ในระยะนี้เราจะมี Passion ในการทำงานมาก ตั้งใจและเสียสละเพื่องานอย่างเต็มที่ รวมถึงพยายามปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน และองค์กรอีกด้วย
2. ระยะรู้สึกตัว (The Awakening) เมื่อเราทำงานไปสักพัก บางคนอาจเริ่มรู้สึกว่าการทำงานไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ทั้งในแง่ของผลตอบแทน ความคาดหวังในตำแหน่งหน้าที่การงาน รวมถึงการเป็นที่ยอมรับ ทำให้เกิดความขับข้องใจและเหนื่อยล้าจนรู้สึกว่าชีวิตดำเนินอย่างผิดพลาด และไม่สามารถจัดการได้
3. ระยะไฟตก (Brownout) ความรู้สึกในแง่ลบและความเหนื่อยล้าเรื้อรังนั้น ส่งผลให้อารมณ์หงุดหงิดง่ายขึ้นอย่างชัดเจน จิตใจจึงตอบสนองด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหนีความขับข้องใจ เช่น ใช้จ่ายเกินความจำเป็น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานเริ่มลดลง จนเริ่มแยกตัวจากเพื่อนร่วมงาน รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์องค์กรของตนเอง
4. ระยะหมดไฟเต็มที่ (Full Scale of Burnout) ในระยะนี้เราจะเริ่มรู้สึกสิ้นหวัง ล้มเหลว ไปจนกระทั่งสูญเสียความมั่นใจในตนเองไป ซึ่งเกิดจากการปล่อยให้ตัวเองอยู่ในระยะไฟตกนานเกินไปและไม่ได้จัดการกับจิตใจตนเอง
5. ระยะฟื้นตัว (The Phoenix Phenomenon) เมื่อเราเริ่มจัดการกับจิตใจตนเอง โดยการหาโอกาสให้ตนเองได้ผ่อนคลายและพักผ่อนอย่างเต็มที่ เช่น หากิจกรรมยามว่างอย่างดูหนังฟังเพลง ไปเข้าคลาสเรียนวาดรูประบายสี หรือจะเป็นการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข (เอ็นโดรฟิน, โดพามีน และ เซโรโทนิน) แถมสุขภาพดีอีกด้วย รวมถึงความคาดหวังและเป้าหมายในการทำงานให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น ทำให้ความเครียดและความกดดันในการทำงานลดลง จนรู้สึกมีแรงบันดาลใจในการทำงานอีกครั้ง