ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
03 พฤศจิกายน 2565

ผอมเกินไปใช่ว่าจะดี อาจเสี่ยงเป็นโรค

เชื่อว่าการมีรูปร่างที่ดีเป็นหนึ่งในเป้าหมายของผู้ที่ใส่ใจเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกายเป็นพิเศษ แต่บางครั้งความผอมเพรียวก็อาจเปลี่ยนไปสู่ ‘ผอมเกิน’ หรือผอมจนก่อให้เกิดโรคภัยได้ สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองอาจจะผอมแบบมีโรคแฝงโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ มาเช็กกันได้จากข้อมูลที่เรานำมาฝากกันในครั้งนี้

 

แค่ไหนถึงเรียกว่าผอม

                  ง่ายที่สุดในการเช็กว่าเราผอมเกินไปหรือไม่คือ การวัดดัชนีมวลกาย (BMI) โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ใช้สิ่งนี้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับคนทวีปเอเชียที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หากค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.5 – 22.90 ถือว่าน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากน้อยกว่า 18.5 ถือว่าน้ำหนักน้อยหรือผอม ส่วนค่า BMI ที่จะบ่งว่าเป็นโรคผอมคือ นับตั้งแต่ 17.0 ลงไป

                   สำหรับสาเหตุของร่างกายที่ผอมมีมากมาย เริ่มตั้งแต่ต้นทางสำคัญอย่างการรับสารอาหารเข้าสู่ร่างกายน้อยลง เช่น เบื่ออาหาร กินน้อยเพราะกลัวอ้วน มีปัญหาในช่องปากและฟัน มีปัญหาระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น อีกกลุ่มหนึ่งคือ ความผอมที่เกิดการใช้พลังงานมากกว่าปกติ มีทั้งที่ไม่ได้เป็นโรค เช่น เมตาบอลิซึมสูงออกกำลังกายอย่างหนัก ใช้สารเสพติด และส่วนที่มีโรคเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน รวมถึงโรคที่สูญเสียน้ำจนทำให้น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วและโรคที่มีแคลเซียมในร่างกายสูงปกติ เช่น โรคมะเร็งบางชนิด เพราะโรคมะเร็งจะส่งผลให้มีการสลายตัวของกระดูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากมะเร็งจะสามารถผลิตสารชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า PTH-related polypeptide (PTHrP) และเมื่อสารตัวนี้จับกับ Receptor จะไปกระตุ้นให้เกิดสารที่มีคุณสมบัติในการสลายตัวของกระดูกมากขึ้น ทำให้แคลเซียมในเลือดสูงขึ้นนั่นเอง

                  นอกจากนี้ยังมีเรื่องกรรมพันธุ์จากบรรพบุรุษที่ส่งต่อการมีดัชนีมวลกายต่ำตามธรรมชาติมาสู่คนในครอบครัว และอีกสาเหตุที่สำคัญในยุคนี้คือ ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ป่วยเป็นโรคอะนอเร็กเซีย และบูลิเมีย

 

โรคแฝงในกลุ่มคนผอม

                  โดยทั่วไปความกังวลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บมักจะอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน แต่ที่จริงแล้วคนผอมก็มีความเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดหลายอย่างตามมา เช่น ภาวะหลอดเลือดแข็ง ตีบ และอุดตัน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต

                  อีกทั้งยังมีโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความอ้วนหรือความผอม ดังนั้นคนผอมก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ จึงควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ยังมีเรื่องความหนาแน่นของมวลกระดูกที่ต้องระวังเมื่อมีน้ำหนักตัวน้อย เพราะจะเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะกระดูกบางและโรคกระดูกพรุน โดยสามารถตรวจเช็กได้จากค่าที-สกอร์ (T-score) จากการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก หากอยู่ระหว่าง -1 ถึง -2.5 ถือว่ามีภาวะกระดูกบาง และหากมีค่าต่ำกว่า -2.5 ถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุน   

 

น้ำหนักลดจนผอมเกินไปอาจเสี่ยงเป็นโรค

              หลายคนอาจรู้สึกดีที่น้ำหนักลดลง แต่ถ้าหากน้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่องจนผอมเกินไปอาจแปลว่าคุณมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค ซึ่งอีกโรคที่ผู้มีน้ำหนักตัวน้อยเสี่ยงจะเป็นคือ ไทรอยด์เป็นพิษ เนื่องจากต่อมไทรอยด์ผลิตและหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ โดยฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยควบคุมการเผาผลาญสารอาหาร ระดับอุณหภูมิของร่างกาย และระดับไขมันในเลือด ดังนั้นถ้าหากร่างกายเราหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินไปก็จะทำให้ระบบเหล่านี้รวนหรือผิดปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา จะส่งผลให้เกิดอีกหลายโรคตามมา เช่น โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ ภาวะกระดูกบาง โรคกระดูกพรุน

                  ...ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูกเป็นอีกอย่างที่อาจเกิดขึ้นกับคนผอม ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ กระดูก และไขมัน มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงระยะสุดท้าย นักวิจัยเชื่อว่าภาวะนี้เป็นส่วนหนึ่งในการตอบสนองของร่างกายที่สามารถดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง ร่ายกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงต้องสลายกล้ามเนื้อและไขมันเพื่อให้ร่างกายมีพลังงานและต่อสู้กับภาวะเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นแทน ดังนั้นจึงควรตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

 

แนวทางแก้ปัญหาเมื่อผอมเกินไป

              เนื่องจากร่างกายที่ผอมเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แนวทางในการแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องของการวินิจฉัยไปถึงต้นเหตุ หากเป็นเรื่องของความผิดปกติทางจิตใจ ต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช เช่น การป่วยเป็นโรคกลัวอ้วนหรือโรคอะนอเร็กเซีย โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคบูลิเมียหรือโรคล้วงคอที่เมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารไปแล้วจะทำให้ตัวเองอาเจียนออกมาเพราะกลัวอ้วนนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีกรณีของความผอมที่เกิดจากความผิดปกติทางร่างกายก็เช่นกัน ต้องหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาตามขั้นตอนของแต่ละโรค

                  สำหรับใครที่ต้องการไกลห่างจากความผอม มีหลากหลายแนวทางให้ปฏิบัติ อย่างแรกคืออาหารการกิน ในกรณีที่กินเยอะแต่ไม่อ้วน แนะนำให้ลดอาหารรสจัด ไขมันสูง แล้วเน้นที่โปรตีนจาก นม ไข่ ถั่ว ธัญพืช เนื้อแดง เวย์โปรตีน ส่วนคาร์โบไฮเดรต ให้เลือกประเภทที่มีประโยชน์ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลเกรน และควรเสริมด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะกับตัวเอง ดูแลอารมณ์และสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ ขาดไม่ได้คือ การพักผ่อนให้เพียงพอด้วยการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่  https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลสมิติเวช
https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/underweight-health-risks

·       โรงพยาบาลวิภาวดี
https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/606

·       เว็บไซต์พบแพทย์

https://bit.ly/3xICvRM

·       วารสารโรคมะเร็ง
https://he01.tci-thaijo.org/index.php/TCJ/issue/view/16629/4074

บทความสุขภาพที่สำคัญ