ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
14 มีนาคม 2565

5 เทคนิคบริหารหนี้สินในช่วง Covid ให้รอด

อัศวินได้ดูข่าวการแพร่ระบาดของ Covid-19 ก็อดเป็นห่วงเพื่อน ๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ที่หลาย ๆ คนได้เจอก็คือปัญหาหนี้สินที่รุมเร้าเข้ามา จนทำให้เกิดความเครียดและไม่รู้จะจัดการอย่างไร แต่ไม่เป็นไรนะครับ เพราะอัศวินมีวิธีการดี ๆ ที่อยากจะแนะนำให้เพื่อน ๆ ได้ลองนำไปใช้แก้ปัญหากัน มาดูกันว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง

ทำบัญชีสรุปหนี้สินออกมา

ในขั้นตอนแรก อัศวินอยากจะขอให้เพื่อน ๆ ลองทำรายการหนี้สินทั้งหมดขึ้นมา เพื่อตรวจสอบดูว่าเรามีหนี้สินอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้จากเงินกู้บ้านหรือเงินกู้ส่วนบุคคล หนี้ที่ยืมเพื่อนมา แล้วเอาทั้งหมดมากรอกใส่ตารางเอาไว้

เมื่อเรารวมหนี้ทั้งหมดได้แล้วลองรวมหนี้ดูว่า หนี้ทั้งหมดที่เราจะต้องจัดการนั้นเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ เราจะต้องใช้หนี้ให้กับใครบ้าง อัตราดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายในแต่ละเดือนนั้นมากแค่ไหน แล้วนำเงินจำนวนนี้ไปเป็นเป้าหมายในการวางแผนว่าเราจะต้องใช้หนี้ให้ได้จนครบครับ

แบ่งประเภทหนี้ระยะสั้นและยาวออกมา

เมื่อเราสรุปหนี้ทั้งหมดแล้ว ในขั้นตอนนี้เราลองมาแบ่งประเภทหนี้กันครับว่า เรามีหนี้ระยะสั้นและหนี้ระยะยาวมากแค่ไหน

โดยปกติแล้วหนี้ระยะสั้นคือหนี้ที่เราจะต้องใช้คืนภายใน 1 ปี เช่น เราขอยืมเงินจากเพื่อนมาใช้ก่อนและสัญญาว่าอีก 3 เดือนเราจะใช้คืน หรือเป็นหนี้บัตรเครดิตที่เรารูดไปก่อนแล้วจ่ายคืนธนาคารในปลายเดือน

ส่วนหนี้ระยะยาวคือหนี้ที่เราจะต้องทยอยชำระคืนโดยใช้เวลาหลาย ๆ ปี เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ ที่ต้องทยอยผ่อนกันไปหลาย ๆ ปี เมื่อเราแบ่งประเภทหนี้ได้แล้วจะทำให้เรารู้ว่าเราควรจะต้องวางแผนอย่างไรให้เหมาะสม

ประเมินความสามารถในการกำจัดหนี้ระยะสั้น

มาเริ่มจัดการหนี้กัน หนี้ระยะสั้นคือสิ่งที่เราจะต้องวางแผนจัดการเป็นอันดับแรก เพราะเรามีระยะเวลาในการเป็นหนี้ได้ไม่นาน เมื่อถึงกำหนดเวลา เจ้าหนี้ก็คาดหวังว่า เราจะมีเงินมาคืนเขา ลองดูครับว่ารายได้และเงินเก็บที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนั้นสามารถทยอยชำระหนี้สินประเภทนี้ได้มากน้อยขนาดไหน

ตัวอย่างเช่น หากเรามีหนี้สินที่จะต้องคืนทั้งหมด 6,000 บาท ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลองมางวางแผนเก็บเงินให้ได้เดือนละ 2,000 บาทครับ พอครบ 3 เดือนก็จะสามารถคืนเงินในส่วนนี้ได้ กรณีที่เรามีหนี้เยอะมาก ๆ ลองโทรปรึกษาเจ้าหนี้ดูก่อนนะครับว่าเราจะทยอยใช้คืนได้อย่างไรแบบที่ไม่หนักต่อเรา

อัศวินเชื่อว่าถ้าทยอยจัดการหนี้สินทีละส่วนได้ หนี้ก็จะลดลงเรื่อย ๆ ปัญหาหนี้ของเราก็จะเบาลงได้ครับ

หาทางเจรจาหนี้ระยะยาว

นอกจากนี้อย่าลืมวางแผนการใช้หนี้ ที่เป็นหนี้สินระยะยาวด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นหนี้รถ หนี้บ้าน หรือคอนโด ซึ่งเราจะต้องผ่อนกันยาว ๆ ถึง 20-30 ปี หากไม่ใช้หนี้ขึ้นมาอาจจะโดนยึดทรัพย์สินได้ ลองดูว่ารายได้เรานั้นเพียงพอต่อการผ่อนในแต่ละเดือนไหม

ในกรณีที่เราผ่อนไม่ไหว อัศวินขอแนะนำว่าลองโทรปรึกษากับทางธนาคารและเจ้าหนี้ดูนะครับว่าจะมีทางออกอย่างไรให้เราได้บ้าง บางทีเขาอาจจะมีโครงการพักชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ และข้อเสนอในการลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนให้เราผ่อนสบายขึ้นได้เช่นกันนะครับ ลองคำนวณดูว่าเราจะผ่อนได้เดือนละเท่าไหร่และค่าใช้จ่ายต่อเดือนนั้น เหมาะสมต่อเราหรือไม่ เพื่อให้เราสามารถจัดการหนี้สินระยะยาวได้ดีขึ้นพร้อมกับสภาพคล่องที่ไม่มีปัญหาครับ

ปรับค่าใช้จ่ายไม่ให้เกินดุลที่วางไว้

เมื่อเรากำหนดแผนการใช้หนี้ของเราได้แล้ว ก็ต้องมาวางแผนงบประมาณของตัวเราไม่ให้เราใช้จ่ายเกินตัวหรือไปก่อหนี้มากกว่าเดิม เพื่อให้เป้าหมายในการใช้หนี้ของเราประสบผลสำเร็จนะครับ

ยกตัวอย่างเช่น เรามีรายได้ในช่วง Covid-19 เหลือ 20,000 บาท มีหนี้สินระยะสั้น 6,000 บาทที่ต้องใช้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า และเราเจรจาหนี้สินระยะยาวแล้ว ธนาคารให้ผ่อนน้อยลงเหลือเดือนละ 12,000 บาท เราก็อาจจะเก็บเดือนละ 2,000 บาทเพื่อนำไปชำระหนี้สินระยะสั้น สำรองเงินไว้ 12,000 บาทสำหรับจ่ายหนี้สินระยะยาว และกำหนดให้ตัวเองใช้จ่ายไม่เกินเดือนละ 8,000 บาทนะครับ ต้องใช้จ่ายอย่างรัดกุมขึ้นนะครับ

หากเราทำได้ตามแผน ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่มขึ้น หนี้เราก็จะลดลงเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เราใช้หนี้ได้ครบในท้ายที่สุดครับ

อัศวินเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกได้ หากเรารู้จักการวางแผน การบริหารหนี้ก็เช่นกันนะครับ ลองนำหนี้ทั้งหมดที่เรามีอยู่มาตั้งเป้าหมายในการใช้หนี้ แบ่งประเภทหนี้สินที่เราต้องชำระ และลองดูว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เหมาะสม ทยอยชำระตามความสามารถของเรา ลองเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกด้วยกันและท้ายสุดตั้งเป้าหมายการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่ก่อหนี้เพิ่ม ไม่ใช้เงินเกินตัว ก็จะทำให้เราวางแผนใช้หนี้ได้อย่างแน่นอนครับ

Covid-19 นอกจากจะสร้างผลกระทบให้กับชีวิตทางการเงินของเราได้แล้ว สิ่งที่เราจะต้องระวังก็คือชีวิตและสุขภาพของเราเช่นเดียวกันนะครับ การวางแผนด้วยประกันก็สำคัญเช่นกัน ซึ่ง iLink ประกันชีวิตควบการลงทุนจากกรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ก็สามารถสร้างความอุ่นใจได้มากกว่าด้วยสัญญาเพิ่มเติมแบบ UDR ให้คุณเลือกเพิ่มความคุ้มครองได้ดั่งใจ หลากหลายตามไลฟ์สไตล์ที่เป็นตัวคุณ พร้อมประโยชน์ที่เหนือกว่าด้วย

· การันตีความคุ้มครองต่อเนื่อง 5 ปีแรกแม้มูลค่ารับซื้อหน่วยลงทุนจะไม่เพียงพอ

· จำนวนเงินเอาประกันภัยสูงสุด 280 เท่า*

· ให้ผลประโยชน์สูงสุด 3 ต่อ กรณีเสียชีวิต

· แนบสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรงได้ ความคุ้มครองสูงสุด 200%

สนใจติดต่อสอบถามที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ได้ที่ โทร 1159 หรือทางเว็บไซต์ https://ktaxa.live/ilink-cs-21

บทความด้านการลงทุนที่สำคัญ