ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
18 มีนาคม 2565

ลดหย่อนภาษีด้วยประกันต้องรู้จักการวางแผน

อัศวินเชื่อว่าในช่วงนี้เพื่อนๆคงกำลังวางแผนเพื่อเตรียมตัวลดหย่อนภาษีกันอยู่ใช่ไหมครับ วันนี้อัศวินก็เลยอยากจะมาทบทวนกันซักหน่อยว่าขั้นตอนในการวางแผนในการลดหย่อนภาษีจะต้องทำอย่างไร จริงๆแล้วก็ไม่ยากเลยครับ แค่เราต้องรู้ว่าเราจ่ายภาษีในปีนี้อยู่เท่าไหร่ เรามีเป้าหมายในการลดหย่อนภาษีอย่างไร และเราจะซื้ออะไรเพื่อการลดหย่อนภาษี อัศวินจะอธิบายไปทีละขั้นตอนดังนี้นะครับ

1. สำรวจก่อนว่าในปีนี้เราเสียภาษีเท่าไหร่

เริ่มต้นในขั้นตอนแรก เราจะต้องสำรวจกันว่าในปีนี้ทั้งปีเรามีรายได้เท่าไหร่ หากเราทำงานประจำลองนำสลิปเงินเดือนทั้ง 12 เดือนมาตรวจสอบดูนะครับ หรือถ้าใครทำหายไปแล้วลองติดต่อฝ่ายบุคคลของบริษัทถามอีกทีก็ได้นะครับ ส่วนใครเป็นฟรีแลนซ์ลองเอาเอกสารต่างๆที่บริษัทที่เคยจ้างเรามาลองคำนวณดูนะครับว่ารายได้ที่เราได้รับมีเท่าไหร่ หลังจากที่เรารู้รายได้แล้วก็ลองเอาค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่เราได้สิทธิมาลองหักดูก่อนนะครับ

ตัวอย่างเช่น รายได้ทั้งปีของเราคือ 400,000 บาท เราสามารถหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวจากการทำงานประจำได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท และมีค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 60,000 บาท แต่บางคนอาจจะมีค่าลดหย่อนมากกว่านี้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลดหย่อนบุตร ลดหย่อนบิดามารดา เป็นต้นครับ พอคำนวณได้แล้วเราจะทราบตัวเลขว่าเราจะต้องเสียภาษีทั้งปีเท่าไหร่ อย่างกรณีตัวอย่างของอัศวินนี่ก็จะเสียภาษีรวมๆแล้ว 4,500 บาทครับ

2. ตั้งเป้าหมายในการลดหย่อนภาษี

เมื่อเราคำนวณได้แล้วว่าภาษีที่เราจ่ายทั้งปีนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ ก็ต้องมาตั้งเป้าหมายการลดหย่อนภาษีกันนะครับ ซึ่งในขั้นตอนนี้มีอยู่ 2 เรื่องที่เราต้องพิจารณาได้แก่

· เงินภาษีที่เราต้องจ่ายนั้นมากแค่ไหน บางทีพอเราคำนวณแล้วพบว่า เราอยู่ในเกณฑ์ที่จ่ายภาษีน้อยมากๆหรือยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษี จะได้นำเงินไปวางแผนในวัตถุประสงค์อื่นๆ แต่ถ้าเราจ่ายภาษีเยอะมากก็สามารถตั้งเป้าหมายในการวางแผนลดหย่อนภาษีได้ครับ

· เงินออมที่เราจะนำไปวางแผนในการลดหย่อนภาษี เราต้องดูด้วยนะครับว่าเรามีเงินออมเท่าไหร่ ถ้าเราเก็บออมเงินได้มาก ก็สามารถนำมาใช้การวางแผนได้เยอะครับ ตรงนี้ต้องคำนวณดีๆวางแผนให้เหมาะสมกับตัวเองนะครับ เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินทั้งหมดที่มีในการลดหย่อนภาษีก็ได้ครับ

สมมติเพื่อนๆคำนวณแล้วว่าจะต้องจ่ายภาษี 10,000 บาท ก็มีความน่าสนใจที่จะนำเงินออมมาวางแผนในการลดหย่อนภาษีใช่ไหมครับ เช่น เราอาจจะเสียภาษีน้อยลงเหลือ 5,000 - 6,000 บาท

3. รู้จักเครื่องมือลดหย่อนภาษีประเภทการออมและการลงทุน

มาดูเครื่องมือที่ใช้ในการออมและการลงทุนกันครับ ในการลดหย่อนภาษีเราจะต้องออมหรือลงทุนในเครื่องมือที่ทางรัฐบาลกำหนดเท่านั้น จากข้อมูลของทาง iTaxและทางกรมสรรพากร ก็จะมีประกันและกองทุนรวมดังนี้ครับ

ประกันชีวิต: นอกจากความคุ้มครองที่ได้รับแล้ว เพื่อน ๆ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้นะครับ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ต้องเป็นประกันที่ทำกับบริษัทในประเทศไทย กรมธรรม์มีระยะเวลาความคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป และต้องเป็นประกันที่จ่ายผลตอบแทนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันรายปีด้วยนะครับ

ประกันชีวิตแบบบำนาญ: หากเราอยากเก็บเงินเกษียณแบบไม่ต้องมีเงินก้อน แต่ทยอยชำระรายปีสามารถมาซื้อประกันบำนาญได้ครับ ประกันประเภทนี้สามารถลดหย่อนได้ตามจริงเช่นกัน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาท นอกจากนี้หากนำไปรวมกับการลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชนแล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ประกันสุขภาพ: ประกันประเภทนี้ทำไว้เผื่อเราเจ็บป่วยอย่างไม่คาดฝัน ซึ่งเราสามารถนำไปลดหยอ่นภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาทนะครับ และถ้าไปรวมกับประกันชีวิตทั่วไปด้วยก็จะต้องไม่เกิน 100,000 บาทนะ

อัศวินอยากจะบอกข้อดีของการมีประกันอีกซักนิดคือ หากเราต้องการใช้สิทธิความคุ้มครองก็จะมีตัวแทนประกันคอยช่วยอำนวยความสะดวกให้เรา ไม่ต้องจัดการเอกสารอะไรเอง และประกันบางประเภทก็จะมีการจ่ายผลตอบแทนให้ด้วยและทั้งหมดนี้ บริษัทประกันมีทีมงานที่คอยบริหารจัดการให้ทั้งหมดครับ

RMF: สำหรับการลงทุนใน RMF เพื่อนๆ นำไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินที่ได้ต้องเสียภาษีนะครับ และเมื่อนำไปรวมกับการลงทุนในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน ต้องไม่เกิน 500,000 บาท เงื่อนไขในการลงทุนใน RMF คือ ซื้อต่อเนื่องทุกปีหรืออย่างน้อยปีเว้นปี ต้องถือหน่วยลงทุนอย่างน้อย 5 ปี และไม่ขายจนถึงอายุ 55 ด้วยนะครับ

SSF: เพื่อนๆท่านไหนที่ลงทุนกับ SSF สามารถนำไปลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินที่ได้ต้องเสียภาษีนะครับ และไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อนำไปรวมกับการลงทุนใน RMF กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชนแล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาท เงื่อนไขในการลงทุนใน SSF คือ จะต้องลงทุน 10 ปี นับจากวันที่ซื้อนะครับ

โดยสรุปแล้วเมื่อเพื่อนๆทราบแล้วว่า เราต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ เราก็สามารถตั้งเป้าหมายการลดหย่อนภาษีจากเงินออมที่เรามี และในปัจจุบันก็มีเครื่องมือในการออมและการลงทุนให้เราเลือกหลายอย่างตามเป้าหมายทางการเงินของเรานะครับ เราไม่จำเป็นต้องซื้อมากๆจนเกินตัว และควรเลือกซื้อจากผลประโยชน์ที่ได้รับนะครับ

และสุดท้ายนี้ อัศวินก็อยากจะแนะนำว่าการเตรียมความพร้อมป้องกันความเสี่ยงในเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็ไม่ควรมองข้ามนะครับ เพราะทุกวันนี้เราต้องเผชิญกับโรคต่าง ๆ ที่ไม่อาจคาดคิด เราจึงควรมีประกันสุขภาพติดตัวไว้ เริ่มต้นวางแผนได้เลยตั้งแต่วันนี้! เพื่อความอุ่นใจและดูแลเรายามเจ็บป่วยด้วย iHealthy Ultra จากกรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต มาตรฐานใหม่ของการวางแผนเรื่องสุขภาพ เพราะเป็นประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย ที่มีแผนความคุ้มครองที่ให้วงเงินสูงสุดถึง 100 ล้านบาทต่อปี จะช่วยให้คุณสามารถวางแผนรับมือกับค่าใช้จ่ายเรื่องสุขภาพที่ยากเกินจะคาดเดา แต่ไม่ยากเกินจะรับมือ และยังสามารถนำไปใช้ในการลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย สนใจติดต่อสอบถามที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ได้ที่ โทร 1159 หรือทางเว็ปไซต์ https://ktaxa.live/iHealthyUltra-cs

บทความด้านการลงทุนที่สำคัญ