แม้จะไม่มีใครอยากตรวจพบโรคร้ายแรง แต่สิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตของเราทุกวันนี้ อาจจะทำให้โรคร้ายเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งนอกจากจะทำให้สุขภาพแย่ลงแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งที่เราสะสมมาด้วย การเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมออาจเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงินได้ วันนี้เราจึงจะขอพาทุกคนไปรู้จักวิธีป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินด้วย ‘ประกันโรคร้ายแรง’ กัน
โดยก่อนที่เราจะไปรู้จักกับวิธีป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินด้วยด้วยประกันโรคร้ายแรงกันนั้น เราขอพาทุกคนไปดูความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคร้ายและข้อมูลคาดการณ์ความเสี่ยงในอนาคตกันก่อน
สถิติการเสียชีวิตด้วยโรคร้าย
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ‘โรคมะเร็ง’ ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพบในกลุ่ม ‘ประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง’ ถึงร้อยละ 70 ของคนทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าหากประเทศไทยอยู่ในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง เราเองก็อาจมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคมะเร็งได้มากขึ้นเช่นกัน หากเราเองไม่มีการสำรองเงินเพื่อซื้อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ซึ่งสำหรับประเทศไทยกรมการแพทย์ได้เผยสถิติว่าในปี 2566 มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่ 140,000 คน/ปี หรือ 400 คน/วัน เลยทีเดียว และที่สำคัญยังพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งในคนอายุน้อยเพิ่มขึ้น โดยเกิดจากพฤติกรรมการกินมากถึง 30-40% ทำให้คนส่วนใหญ่มีความกังวลจากโรคมะเร็งที่เริ่มใกล้ตัวมากขึ้นมากขึ้นในอนาคต
แนวโน้มการเป็นโรคร้ายในอนาคต
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่าในปี 2567 เป็นต้นไป โลกจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าปีละ 20 ล้านราย และคาดการณ์ว่า ใน ปี 2573 ทั่วโลก จะมีเสียชีวิตจากโรคมะเร็งถึง 13 ล้านคนต่อปี หากทุกประเทศยังไม่มีมาตรการการป้องกันโรค และควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง
แต่สิ่งที่เราทำได้นั้นคือการคอยสังเกตตัวเองอยู่เสมอ ว่าเรามีอาการที่อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงในการตรวจพบโรคร้ายหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้รักษาได้ทันและลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต จากวิธีที่เรานำมาให้ลองเช็กตัวเองเบื้องต้นกัน
วิธีเช็กอาการตัวเองง่ายๆ ว่าเรากำลังเสี่ยงเป็นโรคร้ายหรือไม่
1. รู้สึกอ่อนเพลียจนก้าวเท้าแทบไม่ออก เหงื่อออก ตัวเย็น
หากเคยแล้วมีอาการหิวน้ำบ่อย ถ่ายปัสสาวะบ่อย แต่ไม่ใช่เพราะเมาค้าง อาจเป็นโรคเบาหวาน แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานจะไม่มาก แต่ผู้เสียชีวิตด้วยอาการแทรกซ้อนกลับมีไม่น้อย เช่น ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง อัมพาต และโรคหัวใจขาดเลือด
2. เวียนศรีษะขณะนั่งรถ หน้ามืด ตาลาย ต้องยืนเกาะราวเอาไว้
หากเคยเป็นอาจมีอาการของโรคโลหิตจางชนิดขาดธาตุเหล็ก การสูญเสียธาตุเหล็กไปกับเลือด พบได้ในสตรีมีประจำเดือน สตรีขณะตั้งครรภ์ เลือดออกในกระเพาะอาหาร ริดสีดวงทวารเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งอาการของผู้ป่วยจะมีสีผิวซีด มึนศีรษะ ใจสั่น เหนื่อยง่าย มุมปากเปื่อย โดยการป้องกันทำได้แต่ต้องหาสาเหตุที่ทำให้เสียเลือด และรักษาตามสาเหตุนั้น ซึ่งแพทย์จะให้ยาบำรุงซึ่งมีธาตุเหล็กเพื่อกินทดแทนเป็นเวลานานติดต่อกัน ขณะเดียวกันก็ควรเลือกกินอาหารที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ ไข่แดง ปลาแห้ง ผักปวยเล้ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเช็กอาการนี้เป็นการเช็กอาการได้เบื้องต้นเท่านั้น ทางที่ดีเราควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และควรวางแผนเตรียมความพร้อมด้านค่าค่าใช้จ่ายเมื่อตรวจเจอโรคร้ายอยู่เสมอ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะสูงขนาดไหน ถึงทำให้เราต้องเตรียมตัววางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ไปดูกัน
ผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายเมื่อตรวจเจอโรคร้าย
เมื่อตรวจเจอโรคร้ายสิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงด้านค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายต่างๆ จำนวนมาก โดยค่ารักษาพยาบาลโรคร้ายนั้น คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าค่ารักษาโรคมะเร็งทุกกระบวนการรักษาอยู่ที่ประมาณ 250,000 – 8,500,000 บาท เลยทีเดียว
ซึ่งหากเราไม่ได้เก็บเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายด้านนี้เลย ก็อาจจะกระทบกับเงินเก็บของเราและครอบครัวได้ ซึ่งค่ารักษาพยาบาลในอนาคตนั้น อาจจะแพงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และจะแพงจากค่าใช้จ่ายตามขั้นตอนการรักษาของโรคนั้นๆ ด้วย
นอกจากนี้ หากเราต้องการได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ด้วยเทคโนโลยีการรักษาโรคใหม่ๆ เพื่อให้การรักษาโรคร้ายต่างๆ มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ก็ย่อมมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก
โดยจากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโรคร้ายนั้นสูงมาก แต่ทุกคนยังไม่ต้องกังวลใจไป การวางแผนค่าใช้จ่ายด้านนี้มีหลากหลายทาง โดยก่อนอื่นเราจะขอพาไปเช็กสิทธิการรักษาของประกันสังคมเบื้องต้นกันก่อน ว่าสามารถรองรับความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายโรคร้ายได้หรือไม่ และมีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง เพื่อให้เราพิจารณานำไปใช้เลือกซื้อประกันโรคร้ายแรงได้อย่างเหมาะสมคุ้มค่ากัน
ประกันสังคมใช้รักษาโรคร้ายได้ไหม?
สิทธิประกันสังคมจะครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์สำหรับโรคร้ายทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน แต่ขึ้นอยู่กับโรคและเงื่อนไขการรักษาที่ประกันสังคมกำหนด ดังนี้
● ครอบคลุม 26 โรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน, โรคความดันโลหิตสูง, โรคตับอักเสบเรื้อรังและโรคตับแข็ง, โรคภาวะหัวใจล้มเหลว, โรคเส้นเลือดสมองแตก/อุดตัน,โรคมะเร็ง, โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง, โรคถุงลมโป่งพอง, โรคไตวายเรื้อรังโรคพาร์กินสัน, โรคมายแอสทีเนีย เกรวิส, โรคเบาจืด, โรคมัลติเพิล สเคลอโรลิส, โรคไขมันในเลือดสูง, โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์, โรคต้อหิน, โรคไต เนฟโฟรติค, โรคลูปัส, โรคเลือดอะพลาสติก, โรคทาลาสซีเมีย, โรคฮีโมฟิลเลีย, โรคเรื้อนกวาง, โรคผิวหนังพุพองเรื้อรัง, โรคเลือดไอทีพี และโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ จะครอบคลุมทั้งค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์
● โรคมะเร็ง สามารถเข้ารักษาตามแนวทางที่กำหนดได้ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายจนสิ้นสุดการรักษา โดยโรคมะเร็งที่สามารถใช้สิทธิได้ มี 20 ชนิด ได้แก่ มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งรังไข่, มะเร็งมดลูก, มะเร็งโพรงหลังจมูก, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ตรง, มะเร็งหลอดอาหาร, มะเร็งตับและท่อน้ำดี, มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ, มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมฟอยด์ในผู้ใหญ่, มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่, มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่, มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่แบบ Acute Promyelocytic leukemia, มะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่, มะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลมาในผู้ใหญ่, มะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma ในผู้ใหญ่ และ โรคมะเร็งเด็ก
**แต่กรณีที่ไม่สามารถรักษาตามแนวทางที่กำหนดและจำเป็นต้องรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง และ/หรือ เคมีบำบัด และ/หรือ รังสีรักษา เบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 50,000 บาท/ราย/ปี
● ปี 67 เพิ่มสิทธิการรักษา 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. การปลูกถ่ายไขกระดูก 2. เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด 5 โรค 3. การรักษาโรคหยุดหายใจขณะหลับ
● โรคและบริการทางการแพทย์ที่ใช้สิทธิรักษาไม่ได้ ได้แก่ โรคหรือการเจ็บป่วยและได้รับอันตราย จากการใช้สารเสพติด, โรคที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาล (คนไข้ใน) เกิน 180 วันใน 1 ปี, การบำบัดทดแทนไต กรณีไตวายเรื้อรังที่ไม่ใช่ระยะสุดท้าย, การกระทำใด ๆ เพื่อเสริมความงามโดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์, การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง, การรักษาภาวะมีบุตรยาก, การตรวจเนื้อเยื่อเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ, การตรวจใดๆ ที่เกินกว่าความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น, การผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ, การเปลี่ยนเพศ, การผสมเทียม, การบริการระหว่างรักษาตัวแบบพักฟื้น, ทันตกรรม และแว่นตา
ซึ่งจากสิทธิประกันสังคมที่เรากล่าวไปข้างต้นนั้น แม้ว่าเราจะสามารถใช้สิทธิเข้ารับการรักษาโรคร้ายได้หลากหลายโรค แต่ก็ยังมีข้อจำกัดประเภทของโรคร้ายและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ด้วย ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราจะเป็นโรคหรือมีเงื่อนไขการรักษาไหนไหมที่จะไม่ตรงตามเงื่อนไขของประกันสังคม ดังนั้น การทำ ‘ประกันโรคร้ายแรง’ จึงเป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงด้านการเงินช่วยทำให้เราอุ่นใจด้านค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น
ประกันโรคร้ายแรงคืออะไร?
ประกันที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้ความคุ้มครองในกรณีที่ตรวจพบว่าผู้เอาประกันเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งหากตรวจพบในขณะที่กรมธรรม์ยังไม่พ้นระยะเวลาไม่คุ้มครอง บริษัทประกันก็จะจ่ายเงินก้อน เพื่อให้ผู้เอาประกันนำเงินนั้นไปใช้จ่ายในการรักษาตัวหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาได้
ซึ่งประกันนั้นเราควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ ในวันที่เรายังมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงเพื่อไม่ให้โดนปฏิเสธการรับประกัน เพราะหากตรวจพบเจอโรคร้ายเร็ว บางบริษัทประกันอาจจะไม่สามารถรับทำประกันได้ วันนี้เราจึงมีเทคนิคเลือกซื้อประกันโรคร้ายแรงมาฝากกัน
เทคนิคเลือกซื้อประกันโรคร้ายแรง
● ช่วงอายุการรับประกัน ควรเลือกกรมธรรม์ที่มีช่วงอายุการรับประกันที่สอดคล้องกับอายุของผู้ทำประกันและสามารถขยายระยะเวลาความคุ้มครองได้นานที่สุด เพราะจะช่วยให้มีความคุ้มครองต่อโรคร้ายแรงได้อย่างยาวนาน โดยไม่ต้องรับความเสี่ยงไว้เอง
● วงเงินความคุ้มครอง เลือกจากวงเงินความคุ้มครองต่อปี ขั้นต่ำควรจะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไปและโรคร้ายแรง ส่วนประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงที่เน้นรับเงินก้อนเมื่อตรวจพบเพื่อสามารถนำไปเป็นค่ารักษาในยาหรือนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยให้คุณภาพการรักษาพยาบาลดียิ่งขึ้นและค่าใช้จ่ายอื่นๆ และมีระยะเวลาที่คุ้มครองยาว เช่น คุ้มครองจนถึงอายุ 99 ปี
● ค่าเบี้ยประกันอยู่ในระดับที่รับได้ ค่าเบี้ยประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ เราจึงจำเป็นต้องประเมินความสามารถในการจ่ายเบี้ยระยะยาวของตัวเราด้วย เพราะหากไม่สามารถจ่ายเบี้ยได้ครบไปได้ตลอดอายุกรมธรรม์ จะส่งผลถึงความคุ้มครองและผลประโยชน์ที่เราจะได้รับ ซึ่งการเริ่มทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงฉบับใหม่ สุขภาพของเราที่อาจไม่เหมือนเดิมตั้งแต่ตอนแรกที่เริ่มทำ อาจส่งผลให้ไม่สามารถทำประกันฉบับใหม่ได้ หรือต้องมีการเพิ่มเบี้ยประกันที่สูงขึ้นกว่าเดิมมาก
● บริษัทประกันที่มีฐานะทางการเงินมั่นคง ควรพิจารณางบการเงินของบริษัทประกัน เช่น รายได้ รายจ่าย กำไร สถานะทางการเงินว่ามีความมั่นคงทางการเงิน มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีหรือไม่ ที่สำคัญควรพิจารณาอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 140% รวมถึงเลือกทำประกันกับบริษัทที่ไม่เคยมีปัญหาในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคร้ายแรงมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่มากมายเสมอ และเราไม่มีทางรู้ว่าความโชคร้ายนี้จะมาหาเราเร็วเท่าไหร่ การออมเงินด้วยวิธีทั่วไปเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย การเตรียมความพร้อมด้านการเงินในเรื่องค่าใช้จ่ายโรคร้ายด้วยประกันโรคร้ายจึงเป็นหนึ่งวิธีที่ตอบโจทย์ความอุ่นใจด้านการเงินของเราได้