ปัจจุบันถึงแม้ว่าสถานการณ์วิกฤติเงินเฟ้อจะลดความร้อนแรงลงบ้าง แต่ก็ยังคงสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย และในระยะยาวเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น อาจทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์ในอนาคตได้ว่าเงินที่เราเก็บไว้ใช้สำหรับการเกษียณอายุนั้นจะเพียงพอจริงๆ ไหม วันนี้เราจึงมีการวางแผนการเงินในวันที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ด้วย ‘ประกันเกษียณอายุ’ ให้ชีวิตมีความสุข ไร้ความกังวลในช่วงชีวิตวัยเกษียณอายุมาฝากกัน
ซึ่งหากใครที่ยังนึกไม่ออกว่าเงินเฟ้อส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุมากขนาดไหน ก่อนที่เราจะไปดูการวางแผนการเงินด้วยประกันเกษียณอายุกันนั้น เราขอพาไปดูผลกระทบจากเงินเฟ้อที่มีผลต่อผู้สูงอายุในปัจจุบันกันก่อน
เงินเฟ้อส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุในปัจจุบันอย่างไร
เงินเฟ้อทำให้ทุกช่วงวัยก่อหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องกันมากขึ้น ด้วยวิธีการกู้สินเชื่อส่วนบุคคลและหนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นหนี้ที่เข้าถึงได้ง่ายและมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่มาก โดยในปี 2565 กลุ่มอายุผู้สูงอายุ 50 - 59 ปี เป็นหนี้ประเภทนี้มากที่สุด อยู่ที่ 7.8 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ในปี 2565 กลุ่มอายุ 50 - 59 ปี และกลุ่ม 60 ปีขึ้นไป ยังเป็นหนี้อื่นๆ หรือสินเชื่อเพื่อการเกษตร สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ และสินเชื่อที่ไม่สามารถจำแนกประเภทได้ สูงถึง 42.2% เลยทีเดียว
ซึ่งจากการที่เงินเฟ้อสูงขึ้นจนทำให้ผู้สูงอายุในปัจจุุบันเป็นหนี้กันมากขึ้นนั้น สามารถสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่ารายได้ที่มีตอนนี้อาจจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น และในอนาคตเงินเฟ้อนี้ก็จะส่งผลกระทบกับการเงินของเรา ในวันที่เราจะกลายเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ดังนี้
เงินเฟ้อส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุในอนาคตอย่างไร
● เงินเฟ้อทำให้ค่าครองชีพในวัยเกษียณสูงขึ้น เงินเฟ้อในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 4% ปัจจุบันข้าวจานเริ่มต้นละ 40 บาท อีก 20 ปีข้างหน้าเป็นไปได้ว่าอาจจะถึงจานละ 90 บาท ทุกอย่างแพงขึ้น 2 เท่า ซึ่งการที่เงินเฟ้อทำให้ของแพงขึ้นขนาดนี้ เงินที่เราเก็บไว้แล้วรู้สึกว่ามากพอแล้ว ก็อาจจะมีค่าเงินน้อยลงมากในอนาคต จนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายได้
● เงินเฟ้อทำให้ค่ารักษาพยาบาลแต่แพงขึ้น เมื่อเรากลายเป็นวัยผู้สูงอายุ ร่างกายของเราจะอ่อนแอและเสื่อมสภาพลง ทำให้มีค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลมากขึ้น ซึ่งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้นก็จะทำให้ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นปีละประมาณ 5-8% ตามไปด้วย โดยผู้สูงอายุจะมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลต่อการเข้าโรงพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นกว่าบาท และจะสูงกว่าคนไม่สูงอายุอยู่ประมาณหมื่นกว่าบาทเลยทีเดียว
ซึ่งจากผลกระทบของเงินเฟ้อที่มีต่อผู้สูงอายุในอนาคตนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เราจึงอยากขอพาทุกคนไปดูปัจจัยที่มีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคตกัน
แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในอนาคต
อัตราเงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นเป็นผลจากอุปสงค์และอุปทานเกิดความไม่สมดุลกัน ซึ่งแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคตที่จะสูงหรือต่ำนั้นอาจจะมีความไม่แน่นอน จากปัจจัยต่อไปนี้
● การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่มาจากแรงขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า การผลิตให้กลับมาขยายตัว และภาคการท่องเที่ยว หากมีการฟื้นตัวและสมดุล ก็อาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อในอนาคตลดลงได้
● ผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เป็นภูมิภาคที่ตั้งของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่หลายประเทศ จึงทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อการผลิตและส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งหากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตได้
● ความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงได้ยากและส่งผลกระทบกับหลายธุรกิจ ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น จนส่งผลกระทบการผลิตและการส่งออก ซึ่งหากทั่วโลกไม่มีการปรับตัวต่อปรากฏการณ์เอลนีโญ เช่น การซื้อวัตถุดิบล่วงหน้าระยะยาว การมีแหล่งวัตถุดิบสำรอง การใช้แหล่งพลังงานทางเลือก การใช้วัตถุดิบอื่นทดแทน ก็อาจจะมีความเสี่ยงทำให้เงินเฟ้อสูงได้
● ผลจากนโยบายภาครัฐ เช่น มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพหรือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ โดยในปี 2567 และ 2568 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อมีโอกาสปรับสูงขึ้นอยู่ที่ 2.0% และ 1.9% ตามลำดับ และหากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2567 อาจจะอยู่ที่ 2.2% และ 1.5% ตามลำดับ
ซึ่งหลังจากเราได้เห็นกันแล้วว่าเงินเฟ้อส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุอย่างไร เราจึงอยากชวนทุกคนมาวางแผนการเงินไว้ใช้ช่วงเกษียณอายุในอนาคตด้วย ด้วย ‘ประกันเกษียณอายุ’ กัน
การวางแผนการเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณอายุด้วย ‘ประกันเกษียณอายุ’
ประกันประกันเกษียณอายุ หรือ ประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นประกันชีวิตที่เน้นการออมเงินคล้ายประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ โดยผู้เอาประกันต้องชำระเงินค่าเบี้ยประกันเป็นระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ทำไว้อย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ และจะได้รับเงินคืนในรูปแบบของเงินบำนาญ ซึ่งประกันประกันเกษียณอายุนั้นมีจุดเด่นและข้อดีมากมายที่เหมาะกับการวางแผนการเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณอายุ ดังนี้
● ความเสี่ยงต่ำ ประกันแบบบำนาญมีลักษณะเหมือนการนำเงินออมแต่ละเดือนฝากเข้าบัญชีไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด โดยผลตอบแทนที่ได้จะอยู่ในรูปแบบเงินบำนาญที่แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ทำให้เงินต้นที่จ่ายไปไม่หาย และยังคุ้มครองชีวิตตั้งแต่วันที่เริ่มต้นทำสัญญา จึงทำให้รูปแบบประกันชนิดนี้มีความเสี่ยงต่ำนั่นเอง
● ช่วยประหยัดภาษี ประกันเกษียณอายุช่วยทำให้เราจ่ายภาษีน้อยลง โดยประกันจะให้ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ในอัตรา 15% สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับตัวช่วยลดหย่อนภาษีกลุ่มเพื่อการเกษียณอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
● กำหนดรับผลตอบแทนชัดเจน ประกันเกษียณอายุสามารถระบุเงินบำนาญที่ต้องการได้ตั้งแต่วันที่เริ่มทำสัญญา ทำให้มีความแน่นอนในเรื่องของผลตอบแทน สามารถตอบโจทย์เรื่องรายได้หลังเกษียณ ทำให้ง่ายต่อการวางแผนชีวิต ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย และลดความกังวลใจภายหลังเกษียณอายุได้
● ช่วยวางแผนความคุ้มครองสุขภาพเพิ่มเติม ส่วนใหญ่ผู้ที่เกษียณอายุแล้วจะเลิกส่งเบี้ยประกันสุขภาพเพราะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกปี แต่ในทางกลับกันค่าใช้จ่ายภายหลังเกษียณอายุมักหมดไปกับการดูแลรักษาสุขภาพ จึงอยากได้รับความคุ้มครองจากประกันสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การมีประกันเกษียณอายุที่จ่ายเงินคืนในช่วงหลังเกษียณ ซึ่งเราอาจจะนำเงินในส่วนนี้มาใช้สำหรับการวางแผนจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ หรือใช้สำหรับดูแลตัวเองในช่วงเวลาหลังจากเกษียณได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประกันเกษียณอายุเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างความอุ่นใจ หากเกิดเรื่องร้ายขึ้นกับเรา และต้องการได้รับผลตอบแทนแน่นอน มาใช้ในวันที่เกษียณอายุเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้เราไม่ตึงจนเกินไป ได้ใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างมีความสุข แต่ประกันประเภทนี้ไม่ได้การันตีว่าผลตอบแทนจะสามารถชนะเงินเฟ้อได้ การวางแผนทางการเงินไว้ใช้สำหรับเกษียณอายุ จึงควรทำควบคู่กับวิธีเก็บเงินและลงทุนอื่นๆ ไปด้วยจะดีที่สุด