ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
03 ธันวาคม 2567

ปวดตามกระดูกบ่อยครั้งต้องระวัง อาจจะเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งกระดูก

โรคมะเร็งกระดูกเป็นกลุ่มมะเร็งที่พบได้น้อย อุบัติการณ์จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในประเทศไทยพบ 8 คนต่อประชากรล้านราย หากพบว่าป่วยเป็นโรคนี้ การดำเนินการของตัวโรคจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว กล่าวคืออาการป่วยจะถดถอยได้อย่างรวดเร็ว โดยโรคมะเร็งกระดูกสามารถพบได้ในเด็กหรือวัยกลางคน ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคมะเร็งกระดูกนั้น ๆ โดยวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับโรคมะเร็งกระดูกกัน

มะเร็งกระดูกคืออะไร​

                  โรคมะเร็งกระดูก เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อกระดูกแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างผิดปกติ แบ่งได้เป็นมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิและมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ

ประเภทของมะเร็งกระดูก​

มะเร็งกระดูกถูกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิและชนิดทุติยภูมิ ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้

1.          มะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary Bone Cancer) – เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ของกระดูก มักเกิดในบริเวณใกล้ข้อต่อ เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อไหล่ เป็นต้น โรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย ซึ่งมะเร็งชนิดปฐมภูมิที่พบได้บ่อยได้แก่

·     มะเร็งชนิดออสติโอซาร์โคมา (Osteosarcoma) เป็นชนิดของมะเร็งกระดูกที่พบได้มากที่สุด พบในเด็กและหรือช่วงอายุ 20-29 ปี โดยตำแหน่งของเซลล์มะเร็งมักเกิดที่ตำแหน่งกระดูกยาว เช่น กระดูกโคนขา กระดูกหน้าแข้ง กระดูกต้นแขน พบในประชากร 3-4 รายต่อหนึ่งล้านคน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

·     มะเร็งชนิดคอนโดซาร์โคมา (Chondrosarcoma) เป็นมะเร็งกระดูกอ่อน พบในบริเวณกระดูกเชิงกรานและสะโพก พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อุบัติการณ์ในการเกิดมะเร็งชนิดนี้พบได้ 1-2 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

·     มะเร็งกระดูกชนิดอีวิงซาร์โคมา (Ewing’s Sarcoma) เป็นมะเร็งกระดูกและเนื้อเยื่อชนิดรุนแรง พบได้มากในช่วงอายุ 10–20 ปี มีโอกาสเสียชีวิตสูงมากถ้าเกิดการลุกลามเกิดขึ้น พบได้บริเวณ กระดูกเชิงกราน กระดูกแนวยาวทั้งแขนและขา หรือกระดูกสันหลัง อุบัติการณ์ในการเกิดมะเร็งชนิดนี้พบได้ 1-2 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

2.          มะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary Bone Cancer) เป็นมะเร็งกระดูกที่พบได้มากในผู้ป่วยมะเร็งกระดูก เกิดจากเซลล์มะเร็งที่มาจากโรคมะเร็งอื่น ๆ แพร่กระจายและลุกลามเข้าสู่กระดูก ซึ่งมะเร็งเกือบทุกชนิดจะแทรกซึมเข้าสู่กระดูกได้ในช่วงระยะท้าย ๆ ของโรคมะเร็ง แต่มีมะเร็ง 5 ชนิดที่แพร่กระจายเข้าสู่กระดูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งต่อมไทรอยด์ และมะเร็งไต โดยมะเร็งชนิดทุติยภูมิพบได้ในบริเวณกะโหลก ซี่โครง และกระดูกสันหลัง เป็นต้น

 

มะเร็งกระดูก​แต่ละประเภท มีอาการอย่างไร

อาการของโรคมะเร็งกระดูกชนิดปฐมภูมิ (Primary Bone Cancer) – ผู้ป่วยจะมีอาการปวดกระดูกแบบทรมาน ที่ไม่เหมือนกับอาการปวดทั่วไป และจะปวดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในตอนกลางคืน และเมื่ออาการรุนแรงขึ้นผู้ป่วยจะมีอาการปวดตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีอาการที่สำคัญอื่น ๆ เช่น พบก้อนบวมแดงบริเวณกระดูกอย่างผิดปกติ อวัยวะผิดรูป ระบบประสาทผิดเพี้ยน รวมถึงการมีไข้ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เป็นต้น

อาการของโรคมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ (Secondary Bone Cancer) – เนื่องจากเซลล์มะเร็งที่ลามมาถึงกระดูก ได้ทำลายกระดูกจนทำให้กระดูกสูญเสียโครงสร้าง ผู้ป่วยจึงมักจะมีอาการปวด เนื้อกระดูกจะบางลง ทำให้กระดูกเปราะและแตกหักได้ง่าย แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ล้มหรือยกของหนัก อีกทั้งยังอาจมีอาการทางระบบประสาทเช่น ชาตามตัว ไม่มีแรง รวมถึงอัมพฤกษ์และอัมพาต

ซึ่งความแตกต่างของอาการมะเร็งทั้งสองชนิดนี้ คือ มะเร็งชนิดปฐมภูมิจะพบก้อนและปวดทรมาน ส่วนมะเร็งกระดูกชนิดทุติยภูมิ จะไม่มีก้อนที่เป็นลักษณะผิดปกติ แต่จะมีอาการทางระบบประสาท ร่างกายไม่มีแรง และอาจเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้

มีอาการปวดตามกระดูก กระดูกเปราะบาง มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งกระดูกได้ไหม​

เวลาที่เรามีอาการปวดตามกระดูก หรือบางรายที่กระดูกเปราะบาง ถึงแม้ว่าอาการเหล่านี้จะเป็นหนึ่งในอาการของมะเร็งกระดูก แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่นได้ อาจไม่ใช่มะเร็งกระดูกเสมอไป ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่เป็นไปได้ เช่น

·       โรคกระดูกพรุน: กระดูกของผู้ป่วยจะบางลงและเปราะหักง่าย มักพบในผู้สูงอายุ ผู้หญิงหลังวัยหมดประจำเดือน และผู้ที่มีภาวะขาดแคลเซียม

·       โรคข้ออักเสบ: ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดและบวมแดงบริเวณข้อต่อ ทำให้เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก

·       การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ: ซึ่งส่งผลให้กระดูกหักหรือกระดูกร้าว

หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ที่อาจจะตามมาได้

การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูก​

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งกระดูกได้จากการพิจารณาอาการ การตรวจร่างกาย การตรวจกระดูกที่ได้รับผลกระทบหรือมีอาการ และการตรวจในรูปแบบอื่น ๆ เช่น เอกซ์เรย์, CT สแกน หรือ MRI ซึ่งช่วยให้ประเมินขนาดของก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้เพื่อใช้ในการวางแผนผ่าตัด อย่างไรก็ตาม วิธีการวินิจฉัยที่ชัดเจนที่สุดคือการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในกระดูกเพื่อตรวจวินิจฉัยโรค นอกจากนี้ยังมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาระยะของโรคมะเร็งและประเมินสุขภาพของผู้ป่วย เช่น

·       การตรวจเลือดเพื่อประเมินการทำงานของไขกระดูก ตับ และไต

·       การตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของไต

·       เอกซ์เรย์ทรวงอกเพื่อดูว่ามะเร็งแพร่ไปยังปอดหรือไม่ เพราะมะเร็งกระดูกมักแพร่กระจายไปที่ปอด นอกจากนั้นยังมีการตรวจไขกระดูก การตรวจตับ และการสแกนกระดูก เพื่อประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะต่าง ๆ อาการเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและดุลยพินิจของแพทย์

วิธีการรักษามะเร็งกระดูก

การรักษามะเร็งกระดูกนั้นขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด ตำแหน่ง และระยะของมะเร็ง รวมถึงยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น อายุ สุขภาพ โรคประจำตัว เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม โดยวิธีรักษามะเร็งที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น

1.        การผ่าตัด แพทย์จะผ่าตัดก้อนมะเร็งที่อยู่บริเวณมะเร็งและเนื้อเยื่อโดยรอบออก หลังจากนั้นจะทำการแทนที่ด้วยอุปกรณ์ทดแทนอวัยวะ (Endoprosthesis) ที่มีความแข็งแรงทนทาน แทนที่กระดูกที่เสียไป หรือกระดูกส่วนอื่นของร่างกาย หลังจากการผ่าตัดและพักฟื้นก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่บางรายอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะ ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดที่ใหญ่มากหรือมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่น เส้นเลือดและเส้นประสาทถูกทำลายจนไม่สามารถเก็บอวัยวะไว้ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนมะเร็งและความเหมาะสม

2.        การผ่าตัดแบบเจาะรู (Minimal Invasive Surgery) เป็นการผ่าตัดชนิดใหม่ โดยการเจาะรูเล็ก ๆ ตรงกระดูกที่มีเซลล์มะเร็ง แล้วใช้ Probe ตัวเส้นที่ให้ความร้อนและแรงสั่นสะเทือน ทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งดีกว่าและเป็นการลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน ลดโอกาสการติดเชื้อหรือเกิดโรคแทรกซ้อน ใช้ระยะเวลาพักฟื้นไม่นาน แต่การผ่าตัดชนิดนี้ใช้สำหรับมะเร็งระยะแรกเท่านั้น

3.        การบำบัดด้วยรังสี (Radiation Therapy) การรักษานี้จะใช้รังสีพลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็งขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถผ่าตัดออกให้หมดได้ รวมถึงการป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำ มักใช้กับผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยง

4.        เคมีบำบัดหรือการทำคีโม (Chemotherapy) เป็นการรักษาโดยใช้ยาต้านมะเร็งชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดมาประกอบเป็นสูตรยาเคมีบำบัด การให้ยาเคมีบำบัดจะมีฤทธิ์ทำลายหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังหลงเหลืออยู่หลังจากการผ่าตัด

ถึงแม้ว่าโรคมะเร็งกระดูกจะพบได้น้อย แต่อาการดำเนินโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนที่รักเราและคนที่เรารัก ที่สำคัญเมื่อเป็นแล้วอาการจะรุนแรง การที่เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการ เช่น การปวดและเจ็บกระดูกตอนกลางคืน พบก้อนที่น่าสงสัย จากตนเองหรือคนรอบข้าง ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะลุกลามไปยังอวัยวะต่าง ๆ เพื่อการรักษาที่หายขาดและคุณภาพชีวิตที่ดี สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต สามารถใช้บริการแคร์คุณกว่าใคร หรือ Krungthai-AXA Care Coordination บริการพิเศษที่ให้คำแนะนำเรื่อง แพทย์เฉพาะทางและโรงพยาบาลที่เหมาะสมกับโรคของลูกค้า โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง หรือโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง โดยสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/products/health-insurance-and-hospital-income/ihealthy-ultra

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลรามาธิบดี

https://bit.ly/49hCVAf

·       Mayo Clinic

https://cle.clinic/42JhV39

·       โรงพยาบาลเปาโล

https://bit.ly/49foVqU

·       Medthai

https://bit.ly/3SFsRdl

บทความสุขภาพที่สำคัญ