ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
04 ตุลาคม 2565

โรคไข้เลือดออก อาการสัญญาณเตือนและวิธีการดูแลผู้ป่วย

ในช่วงที่ฝนตกอย่างต่อเนื่องก็มักจะมีน้ำขังอยู่ตามจุดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแอ่งน้ำบนท้องถนน หรือแม้แต่น้ำขังที่อยู่ตามภาชนะต่าง ๆ ภายในบ้านและสิ่งที่เรานึกถึงเป็นอันดับต้น ๆ ที่จะมาพร้อมน้ำขังก็คือ ยุง เพราะน้ำที่ขังนิ่งเป็นที่วางไข่ชั้นดีของบรรดายุงทั้งหลาย และยุงลายก็เป็นหนึ่งในยุงที่น่ากลัว เพราะเป็นพาหะนำโรคอันตรายอย่างโรคไข้เลือดออกมาสู่มนุษย์ 

 

เรารู้จักโรคไข้เลือดออกกันมากแค่ไหน?

              โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) และมียุงลาย Aedes Aegypti เพศเมียเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่คน ยุงลายตัวเมียจะออกหากินในตอนกลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร เมื่อยุงกัดเลือดของผู้ป่วยไข้เลือดออก ไวรัสเดงกีจะไปฝังอยู่บริเวณผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง ซึ่งมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีไวรัสชนิดนี้อยู่ในตัวไปกัดคน คน ๆ นั้นก็จะได้รับเชื้อไข้เลือดออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนจะมีระยะฟักตัวเฉลี่ย 5-8 วัน (สั้นที่สุด 3 วันและนานที่สุด 15 วัน) หลังจากนั้นผู้ป่วยก็จะเริ่มมีอาการของโรคแสดงออกมา

                  เชื้อไวรัสเดงกีมีทั้งหมด 4 ชนิด คือ DEN1, DEN2, DEN3 และ DEN4 โดยปกติแล้วการระบาดจะเกิดจากเชื้อทั้ง 4 ชนิดหมุนเวียนกันระบาดไปตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากผู้ป่วยเคยได้รับเชื้อตัวใดตัวหนึ่ง ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีทุกสายพันธุ์อยู่ได้ 6-12 เดือน และร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดที่ได้รับมาตลอดชีวิต แต่ก็มีโอกาสติดเชื้อจากชนิดที่เหลือได้อีก

 

สัญญาณเตือนไข้เลือดออก

              ไข้เลือดออกสามารถพบได้กับทุกเพศทุกวัย แต่พบได้มากในกลุ่มของวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น เมื่อใดที่มีอาการดังต่อไปนี้ ให้ตั้งข้อสงสัยได้เลยว่าคุณอาจจะกำลังมีอาการของโรคไข้เลือดออก

·       มีไข้สูงมาก อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียสต่อเนื่องกัน 2-7 วัน

·       เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดศีรษะ

·       รู้สึกปวดเมื่อยตามร่างกาย

·       คลื่นไส้ อาเจียนและอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย

·       บางรายอาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามตัว อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกจามไรฟัน และถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

 

อาการของโรคไข้เลือดออก

อาการของโรคไข้เลือดออกจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

1.        ระยะไข้สูง

·       มีไข้สูงลอยหรือไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียสแบบไม่มีท่าทีจะลด 2-7 วัน

·       รู้สึกเบื่ออาหาร

·       คลื่นไส้ อาเจียน

·       ปวดหัว

·       ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่

·       ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตามตัว

·       หน้าแดง ตัวแดง

·       อาจมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามผิวหนัง

·       60-90% ตรวจพบว่าตับโตผิดปกติ กดแล้วรู้สึกเจ็บ จะพบได้ประมาณวันที่ 3-4 นับจากวันที่ป่วย

2.        ระยะวิกฤติ (ระยะช็อคและเลือดออก)

·       ไข้ลด ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นช่วงวันที่ 3-6 ของโรค

·       อาการทรุดจนเข้าสู่ภาวะช็อค

·       รู้สึกกระสับกระส่าย

·       ชีพจรเต้นเร็ว

·       อาเจียนมาก

·       ปวดท้อง

·       ผู้ป่วยบางรายมีอาการซึมมากขึ้น

·       ปัสสาวะน้อย

·       อาจมีเลือดออกในกระเพาะ

·       หากไม่มีอาการแทรกซ้อนและได้รับการรักษาทันเวลา ผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ในระยะนี้ประมาณ 1-2 วันจากนั้นก็จะเข้าสู่อาการระยะที่ 3

3.        ระยะฟื้นตัว

·       อาการโดยทั่วไปดีขึ้น ไม่ปวดท้อง ไม่รู้สึกกระสับกระส่าย

·       ความดันเข้าสู่ระดับปกติ

·       ชีพจรกลับมาเป็นปกติ

·       ปัสสาวะออกมากขึ้น

·       ขนาดของตับจะลดลงกลับมาเป็นขนาดปกติภายใน 1-2 สัปดาห์

·       เริ่มกลับมารับประทานอาหารได้

·       มักมีผื่นแดงที่ขา ปลายมือและปลายเท้า

·       มือและเท้ามีอาการคัน

 

การตรวจวินิจฉัย

              เนื่องจากอาการของไข้เลือดออกมีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดใหญ่และอาการไข้จากโรคอื่น ๆ  นอกจากการสังเกตอาการและซักประวัติคนไข้แล้ว แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดและเสมหะเพื่อส่งเข้าไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบ 2 ประการ

1.        ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC) เพื่อตรวจสอบหาความผิดปกติของส่วนประกอบทั้งหมดของเลือด ได้แก่ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และความเข้มข้นของเลือด

2.        ตรวจภูมิคุ้มกันต่อไข้เลือดออก (IgM) ตรวจ NSI Ag ต่อเชื้อโดยตรง ตรวจ PCR เพื่อหาเชื้อไวรัสเดงกี หากตรวจแล้วพบว่าผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ และเม็ดเลือดขาวต่ำ เม็ดเลือดแดงเข้มขึ้น ความดันโลหิตต่ำ และมีชีพจรเบาเร็ว แสดงว่าผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่ระยะช็อกซึ่งจะต้องส่งตัวเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนักทันที

 

การดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออก

•       ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ หรือดื่มน้ำเกลือแร่ให้เพียงพอ วิธีสังเกตว่าดื่มน้ำเพียงพอหรือไม่ คือให้ดูสีของปัสสาวะว่ามีสีอะไร หากมีสีเหลืองอ่อน แปลผู้ป่วยดื่มน้ำเพียงพอ แต่ถ้าเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีชา หมายความว่าร่างกายยังขาดน้ำอยู่

•       ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ ปริมาณตามแพทย์สั่ง เพราะหากรับยามากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการตับอักเสบจากยาพาราเซตามอลได้

•       ห้ามให้ยาแอสไพรินกับผู้ป่วย เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเลือดออกได้ง่ายและมากขึ้นได้

•       หากผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายสีดำ หรืออาเจียนมาก รู้สึกว่าดื่มน้ำเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ มือเท้าเริ่มเย็น ให้เข้าพบแพทย์ทันที เพราะอาการนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าผู้ป่วยอาจมีอาการความดันโลหิตต่ำและอาจเกิดการช็อกได้

•       ผู้ดูแลสามารถดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดและรับประทานอาหารร่วมกันได้ เนื่องจากโรคไข้เลือดออกไม่ใช่โรคติดต่อผ่านการสัมผัสและสารคัดหลั่งอื่น ๆ

•       หากผู้ป่วยมีไข้และต้องการอาบน้ำ ให้อาบด้วยน้ำอุ่นหรือเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น เพราะหากใช้น้ำเย็น ผู้ป่วยจะสูญเสียความร้อนออกจากร่างกายมากเกินไป และอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความหนาวสั่นได้

 

การรักษา

ในปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสเฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออก การรักษาจะเป็นการดูแลตามอาการในลักษณะการประคับประคอง ซึ่งต้องควบคู่การตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำตั้งแต่แรกเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด แพทย์จะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงระยะวิกฤต เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเป็นอันตรายถึงชีวิต

 

ไข้เลือดออกป้องกันได้

•       ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยการนอนในมุ้ง หรือปิดหน้าต่างประตูให้มิดชิด โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน

•       กรณีนอนในพื้นที่เปิดโล่ง หรือเปิดหน้าต่าง ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า

•       ใช้สารไล่ยุง ทั้งชนิดที่ใช้ขับไล่ยุง และชนิดที่ใช้ทาหรือฉีดกับผิวหนัง

•       ผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออดต้องระวังไม่ให้ยุงกัดภายใน 5 วันแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปสู่คนอื่นได้

•       กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก

o   ปิดปากภาชนะด้วยฝาอย่างมิดชิด เพื่อไม่ให้มียุงหลุดเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ได้

o   หมั่นเปลี่ยนน้ำในภาชนะเล็ก ๆ ทุกวัน เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งพระ หรือแจกันประดับต่าง ๆ

o   คว่ำภาชนะหรือกะละมังเก็บให้เข้าที่เรียบร้อย เพื่อป้องกันการเกิดน้ำขัง

o   หากมีอ่างน้ำสำหรับปลูกต้นไม้ เช่น อ่างบัว ควรเลี้ยงปลา เช่น ปลาหางนกยูงเพื่อให้ปลาช่วยกำจัดไข่และลูกน้ำยุงตามธรรมชาติ

o   ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้ำไว้ แต่หากเป็นต้นไม้ขนาดเล็ก ให้ใช้วิธีเทน้ำขังในจานรองกระถางต้นไม้ทุกวัน

o   เก็บ ทำลาย เศษวัสดุต่าง ๆ เช่น ขวด ไห กระป๋อง และยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง

o   สำรวจหลุมบ่อที่อาจเกิดขึ้นรอบบริเวณบ้าน เมื่อพบก็ให้ทำลายให้เรียบร้อย

•       ผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงอายุ 9-45 ปีที่เคยมีประวัติเป็นไข้เลือดออก ถึงแม้ว่าจะถือว่าร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออกสายพันธุ์นั้นแล้ว แต่ก็ควรพิจารณาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นด้วย

 

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดขึ้นในประเทศเทศไทยเป็นประจำทุก ๆ ปีในช่วงฤดูฝน และในแต่ละปีก็มีตัวเลขผู้ป่วยจำนวนมาก หากได้รับเชื้อแล้วไม่ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที จากอาการไข้ก็อาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้ แน่นอนว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากจะให้เกิดขึ้นกับตัวเองและคนในครอบครัว ดังนั้นการช่วยกันสอดส่องป้องกันด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำทั้งภายในบ้านและชุมชนรอบบ้าน ก็จะช่วยป้องกันให้ทุกคนไม่ต้องทรมานกับความเจ็บป่วยและสูญเสียได้

 

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต หากมีอาการป่วยเล็กน้อยและต้องการปรึกษาแพทย์เบื้องต้น สามารถใช้บริการกรุงไทย-แอกซ่า เทเลเฮลท์ (TeleHealth) บน Emma by AXA ได้ แต่กรณีที่มีไข้สูงติดต่อกันหลายวัน ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันที ข้อมูลเพิมเติม คลิก https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-services/telehealth

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       โรงพยาบาลกรุงเทพ
https://bit.ly/3xhNvFD

·       โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
https://www.bumrungrad.com/th/conditions/dengue-hemorrhagic-fever

·       โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3tsZSNX

·       คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=780

·       โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/676/Dengue1

 

บทความสุขภาพที่สำคัญ