ไม่เพียงโรคหรือความเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เราต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในช่วงฤดูฝน อุบัติเหตุก็เป็นสิ่งนึงที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน อย่างไฟช็อตก็ถือเป็นภัยใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม เพราะการถูกไฟช็อตสามารถสร้างความบาดเจ็บให้กับร่างกายอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ครั้งนี้เราจึงเลือกนำเสนอข้อมูลทั้งในแง่ของอาการเมื่อถูกไฟช็อต การช่วยเหลือและการรักษาผู้ถูกไฟช็อต รวมถึงแนวทางการป้องกันการเกิดไฟช็อต เพื่อให้ทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยขึ้นไม่มากก็น้อยในหน้าฝนปีนี้
ไฟช็อตคืออะไร
ไฟช็อต (Electric Shock) คือ ภาวะที่ผิวหนังหรืออวัยวะภายในของร่างกายได้รับบาดเจ็บจากพลังงานไฟฟ้า โดยจะเกิดขึ้นเมื่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสกับแหล่งกระแสไฟฟ้าโดยตรง และกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเนื้อเยื่อเข้าสู่ร่างกาย นำมาสู่อาการช็อต ซึ่งระดับความรุนแรงจะเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามจำนวนโวลต์และแอมแปร์ของกระแสไฟฟ้าที่ผู้ถูกไฟช็อตสัมผัส รวมไปถึงระยะเวลา วิถีการไหลของกระแสไฟฟ้า และสุขภาพของผู้ถูกไฟช็อตอีกด้วย
ในกรณีที่เกิดไฟช็อตในบ้าน ส่วนใหญ่จะก่อความบาดเจ็บไม่รุนแรงมาก เพราะในไทยจะใช้ไฟฟ้าชนิดแรงต่ำที่ 220 โวลต์ แต่ถ้าหากเป็นไฟช็อตที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับแหล่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งสูงกว่า 1,000 โวลต์ เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง อาจเป็นสาเหตุของการเกิดไฟช็อตในระดับร้ายแรงที่อาจทำให้ผู้ที่ถูกไฟช็อตเสียชีวิตได้
โดยในช่วงหน้าฝนจะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุไฟช็อตมากกว่า เนื่องจากเมื่อฝนตก น้ำฝนที่ปนเปื้อนสารต่าง ๆ ความชื้น รวมถึงก๊าซบางชนิด ส่งผลให้น้ำเหล่านี้เป็นตัวนำไฟฟ้า ซึ่งถ้าเราเปียกฝนหรือมีความชื้นตามตัว แล้วไปสัมผัสกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว ก็จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าในสภาวะอากาศที่ปกติ หรือฤดูอื่น ๆ นั่นเอง
อาการของผู้ถูกไฟช็อต
ระดับความรุนแรงของอาการในแต่ละกรณีจะมากน้อยแตกต่างกันไป เช่น ปวดศีรษะ ชาตามร่างกาย ชัก หายใจไม่ปกติ ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อกระตุก ผิวหนังบริเวณที่กระแสไฟฟ้าผ่านเกิดแผลไหม้ กระดูกผิดรูป การมองเห็น การพูดหรือการได้ยินผิดปกติ ชีพจรเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หมดสติ เป็นต้น
4 ขั้นตอนในการช่วยเหลือผู้ถูกไฟช็อต
1. ตั้งสติกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ลืมตรวจสอบความปลอดภัยของตนเองก่อนเริ่มต้นให้การช่วยเหลือ
2. ตัดกระแสไฟฟ้าในบริเวณที่เกิดเหตุทันที ในกรณีที่แหล่งไฟฟ้าแรงสูง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยดำเนินการเพื่อความปลอดภัย
3. หลังตัดกระแสไฟฟ้าเรียบร้อย ควรใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้ามาสวมใส่ก่อนที่จะสัมผัสกับตัวผู้ถูกไฟช็อต เพื่อดูอาการเบื้องต้นหรือเช็กสัญญาณชีพ เช่น ถุงมือผ้า ถุงมือยาง ผ้าแห้ง พลาสติกแห้ง เป็นต้น และควรหาสิ่งของที่ทำจากวัสดุผ้า กระดาษ หรือพลาสติกที่แห้ง นำมารองเท้าเพื่อความปลอดภัยก่อนเดินไปยังที่เกิดเหตุ หรือเข้าไปถึงตัวผู้ถูกไฟช็อต
4. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องส่งผู้ถูกไฟช็อตไปโรงพยาบาลทันที สามารถใช้อุปกรณ์หรือสิ่งของที่ทำจากผ้าที่แห้ง นำมาห่อตัวหรือช่วยในการเคลื่อนที่ผู้ประสบเหตุได้ เช่น พรม ผ้าผืนใหญ่ เป็นต้น ที่สำคัญต้องขนย้ายและเคลื่อนที่ผู้ถูกไฟช็อตอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการบาดเจ็บรุนแรงขึ้น
เมื่อตนเองถูกไฟช็อตควรปฏิบัติอย่างไร
1. ก่อนอื่นผู้ที่ถูกไฟซ็อตต้องรวบรวมสติจากอาการตกใจชั่วขณะหลังจากนั้นพยายามใช้แรงทั้งหมดที่มีดึงมือหรืออวัยวะที่สัมผัสกับกระแสไฟฟ้าและออกจากสถานที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
2. ถ้าหากไม่สามารถทำได้ ควรตะโกนให้คนรอบข้างช่วยเหลือ เรียกรถพยาบาล หรือโทรหาสายด่วนกู้ชีพ 1669 โดยเร็วที่สุด
3. เมื่อมีคนเข้ามาช่วย ให้ตัดกระแสไฟฟ้าและห้ามให้ผู้ที่ช่วยเข้ามาสัมผัสร่างกายของเรา แต่ให้ใช้วัสดุที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ถุงมือยาง ไม้ ถุงมือผ้า มาแยกตัวเราออกจากกระแสไฟฟ้า
4. เข้าตรวจเช็กร่างกายกับแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะถึงแม้ว่าไม่มีอาการบาดเจ็บที่ภายนอก แต่ภายในร่างกายอาจจะได้รับบาดเจ็บได้ ดังนั้นการพบแพทย์โดยเร็วจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
วิธีการรักษาหลังถูกไฟช็อต
ไม่ว่าจะเป็นการถูกไฟช็อตในระดับใด ผู้ถูกไฟช็อตควรได้รับการรักษาจากแพทย์ทันทีที่สามารถส่งตัวไปโรงพยาบาลได้ สำหรับการรักษาจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของบาดแผล สำหรับแผลไฟไหม้จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การผ่าตัดผิวหนัง และการผ่าตัดกล้ามเนื้อ ส่วนบาดแผลหรือการบาดเจ็บอื่น ๆ แพทย์จะให้การรักษาตามอาการที่เกิดกับอวัยวะนั้น ๆ เช่น ดวงตา กระดูก เป็นต้น ส่วนอวัยวะภายในที่ไม่สามารถสังเกตได้ทันที แพทย์จะแนะนำช่วงเวลาในการสังเกตอาการที่เหมาะสมให้แต่ละบุคคล
แนวทางการป้องกันไฟช็อต
ไฟช็อตเป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ และไม่เฉพาะในฤดูฝนเท่านั้นที่ต้องให้ความสำคัญ แต่ควรระมัดระวังตลอดเวลา เพราะเป็นอุบัติเหตุที่ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยมีแนวทางให้นำไปปรับใช้ ดังนี้
- ดูแลเครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่สภาพที่พร้อมใช้งานและปลอดภัยเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อร่างกายเปียกน้ำ
- จัดวางเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ห่างจากบริเวณที่มีความเปียกชื้น หรือติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับป้องกันความชื้นโดยเฉพาะ
- เพิ่มความปลอดภัยเป็นพิเศษสำหรับบ้านที่มีเด็ก ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เสริมสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ที่ครอบเต้าปลั๊กไฟ
อุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ถ้าหากเรารู้วิธีการป้องกันและวิธีการรับมือกับอุบัติเหตุ ก็จะช่วยให้เราลดอัตราการเกิดและรู้วิธีการแก้ไขได้ทันท่วงที สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories
แหล่งที่มาของข้อมูล
· คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=419
· โรงพยาบาลบางประกอก3
https://bangpakok3.com/care_blog/view/55
· เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3N5E45f
· Healthline
![](https://images.axa-contento-118412.eu/ktaxav2/29623ba9-63db-438c-9fe9-e6f4cbf547be_KTAXA03+-+JUN23_picture+in+article.jpg?auto=compress,format)