ปัจจุบัน LGBTQ+ อาจไม่ใช่คำใหม่สำหรับสังคมไทยอีกต่อไป นั่นเพราะเราได้เข้าสู่ยุคแห่งการยอมรับความหลากหลายทางเพศอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อว่าภาพรวมจะดียิ่งขึ้นอีกหากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่มีลูกหลานอยู่ในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จะเข้าใจในความแตกต่าง และมอบความรักให้พวกเขาอย่างเต็มที่ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้ LGBTQ+ รุ่นใหม่ได้เติบโตและมีความสุขในสังคมต่อไป ซึ่งเราพร้อมเป็นส่วนในการเป็นกระบอกเสียงที่จะชวนทุกคนมาขยายความเข้าใจเกี่ยวกับ LGBTQ+ รวมถึงเสนอแนวทางสำหรับทุกคนที่กำลังเลี้ยงดูลูกหลานที่อยู่ในกลุ่มนี้อย่างมีคุณภาพ
ทำความรู้จักกับ LGBTQ
ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักกันก่อนว่า LGBTQ คืออะไร LGBTQ คือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นรสนิยมความชอบของแต่ละบุคคลไป เหมือนกันการที่เราชอบ สี กลิ่น รสชาติ โดยความชอบนี้ไม่เป็นความผิดปกติหรือเป็นโรค เพียงแต่เป็นความชอบส่วนบุคคลเท่านั้นเอง คำว่า LGBTQ นั้นมาจากอักษรย่อของแต่ละกลุ่มเพศ
· L ย่อจาก Lesbian (เลสเบี้ยน) กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง
· G ย่อจาก Gay (เกย์) กลุ่มชายรักชาย
· B ย่อจาก Bisexual (ไบเซ็กชวล) กลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง
· T ย่อจาก Transgender (ทรานส์เจนเดอร์) กลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย
· Q ย่อจาก Queer (เควียร์) หมายถึง กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศและความรัก
เนื่องจากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีความหลากหลายมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงมีการเติมเครื่องหมายบวกต่อท้าย เพื่อสื่อถึงความหลากหลายทางเพศที่มีมากขึ้น กลายเป็น LGBTQ+ โดยมีตัวย่อที่ต้องทำความรู้จักเพิ่มเติม เช่น
· I ย่อจาก Intersex (อินเตอร์เซ็กซ์) กลุ่มคนที่มีทั้งโครโมโซม อวัยวะเพศ ของทั้งเพศชายและหญิง
· A ย่อจาก Asexual (อะเซ็กซวล) กลุ่มคนที่ไม่มีแรงดึงดูดความโรแมนติกกับผู้อื่น
· P ย่อจาก Pansexual (แพนเซ็กชวล) การมีความรักแบบไม่จำกัดเพศ
· N ย่อจาก Non-Binary (นอน-ไบนารี) การมีสำนึกทางเพศที่มองว่าตัวเองไม่อยู่ในขั้วของความเป็นชายหรือหญิง เป็นต้น
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ LGBTQ+
แม้ความหลากหลายทางเพศจะเป็นที่เข้าใจของผู้คนมากขึ้นตามลำดับ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีคนที่มีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ LGBTQ+ อยู่ไม่น้อย และนี่คือตัวอย่างบางส่วนที่เราต้องการเปลี่ยนให้เป็นความเชื่อใหม่ที่ถูกต้อง ซึ่งมีผลการสำรวจ การศึกษา การวิจัย มารองรับอย่างเป็นทางการแล้ว
“LGBTQ สามารถรักษาให้หายได้” ตามที่มีการตีพิมพ์ในวารสาร WAS News ของ สมาคมสุขภาพทางเพศแห่งโลก ระบุว่า รักร่วมเพศไม่ใช่โรค โดยมีหลักฐานอย่างเป็นทางการในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต และองค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า รักร่วมเพศเป็นลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต
“คนเราเลือกจะเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนได้” ประเด็นนี้มีผลการศึกษามากมายชี้ว่า คนที่เป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น รหัสพันธุกรรม ฮอร์โมน เป็นต้น จึงอาจกล่าวได้ว่า รสนิยมเรื่องเพศส่งต่อกันทางชีวภาพระหว่างคนในครอบครัว นั่นจึงหมายความว่า รสนิยมทางเพศไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อพ่อแม่ไม่ยอมรับ
เพราะพ่อแม่และบุคคลใกล้ชิดเป็นกำลังใจสำคัญของพวกเขา การไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัวจะส่งผลให้เด็กได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเป็นอย่างมาก บวกกับสิ่งที่อาจจะพบเจอจากสังคม เช่น ถูกกลั่นแกล้ง ด่าทอ ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่โรคเครียดหรือโรคซึมเศร้า และถ้าหากไม่ได้รับการดูแลจิตใจก็จะทำให้อาการหนักขึ้นจนถึงขั้นคิดฆ่าตัวตาย ที่หนักไปกว่านั้นคือการใช้สารเสพติด ดังนั้นการปรับเปลี่ยนมุมมอง เปิดใจให้กว้างขึ้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เราจึงมีคำแนะนำมาฝากเหล่าคุณพ่อคุณแม่กัน
แนวทางสำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานเป็น LGBTQ
1. เปิดใจยอมรับความเป็น LGBTQ+ ของลูกหลาน แน่นอนว่าในตอนแรกที่ได้รู้อาจจะมีความรู้สึกตกใจหรือผิดหวังเข้ามาบ้าง แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงความไม่พอใจออกมาให้ลูกเห็น ในทางกลับกันควรชื่นชมลูกที่กล้ายอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็นและกล้าเปิดเผยกับผู้อื่น รวมถึงตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ค่อย ๆ ปรับทัศนคติต่อเรื่องนี้
2. สอนให้ลูกหลานรู้จักคุณค่าในตัวเอง โดยให้ลูกหลานมองเห็นถึงข้อดีและความสำเร็จที่ตนเองมี ไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น รวมถึงสอนให้รู้จักในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กบางคนอาจเกิดความสับสนในตัวเอง
3. พร้อมรับฟัง และให้คำปรึกษาด้วยใจที่เป็นกลางปราศจากอคติ ครอบครัวควรเป็น Comfort Zone ของลูก เพราะถ้าหากลูกมีเรื่องไม่สบายใจ พ่อแม่จะได้เป็นคนแรกที่ลูกนึกถึงและเล่าเรื่องราวที่เขาต้องเผชิญให้ฟัง ซึ่งจะทำให้พ่อแม่สามารถคอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำกับลูกได้
4. พาลูกหลานไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่ต้องการใช้ฮอร์โมนหรือการผ่าตัดแปลงเพศ
5. เฝ้าดูทุกความเปลี่ยนแปลงด้วยความเข้าใจ ให้กำลังใจและคอยเพิ่มพลังงานบวกให้กับลูกหลายอยู่เสมอ เพราะลูกหลานเองอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมที่โรงเรียน พลังใจจากคุณพ่อคุณแม่และบุคคลใกล้ชิดจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาก้าวผ่านอุปสรรคนี้ไปได้
6. พยายามใช้เวลาร่วมกัน เพื่อให้ลูกหลานอบอุ่นใจ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่เพศวิถีที่เขาต้องการ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และการประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาเลือกเป็นและเลือกทำในอนาคต
จะเห็นได้ว่าความหลากหลายทางเพศไม่ใช่โรคหรือความผิดปกติของร่างกาย แต่เป็นพันธุกรรมที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ดังนั้นทุกคนโดยเฉพาะครอบครัวควรทำความเข้าใจกับความหลากหลายนี้ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตและอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพด้านอื่น ๆ สามารถอ่านบทความด้านสุขภาพทั้งหมดได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories
แหล่งที่มาของข้อมูล
· โรงพยาบาลเปาโล
https://bit.ly/3wPtJlC
· โรงพยาบาลเพชรเวช
https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/LGBTQ
· เว็บไซต์ Hello คุณหมอ
https://bit.ly/3Rw3gkR
· เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3LvDGdT
