เคยไหม? นั่งทำงานไปแล้วดึงผมตัวเองไปทีละเส้น ๆ ถ้าใช่ คุณอาจมีความเสี่ยงในการเป็นโรคดึงผม หรือโรคดึงผมตนเอง... หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า โรคนี้เกิดขึ้นจากอะไร มีความเกี่ยวข้องกับโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ เมื่อเป็นแล้วรักษาอย่างไร และสามารถป้องกันได้ไหม เรารวบรวมคำตอบทั้งหมดมาให้แล้วในบทความนี้
โรคย้ำคิดย้ำทำคืออะไร
เป็นอาการทางจิตอย่างหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมทำบางสิ่งบางอย่างซ้ำไป ซ้ำมาเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดความสบายใจ ซึ่งผู้ป่วยเองจะรู้ตัวว่าสิ่งที่ตนเองทำอยู่นั้นไม่จำเป็น ถึงอย่างนั้นผู้ป่วยก็ไม่สามารถหยุดสิ่งที่ทำอยู่ได้ เช่น คอยดูว่าปิดไฟห้องน้ำหรือไม่ถึงแม้ว่าจะเห็นว่าปิดไปแล้วก็ตาม หรือว่าการที่ตัวเองคอยดึงผมอยู่เรื่อย ๆ บางคนก็อาจจะคิดว่าตัวเองเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำหรือไม่ โดยถึงแม้ว่าการดึงผม ดูเหมือนจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะคุณอาจจะเป็นโรคดึงผมนั่นเอง ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันได้โดยตรง
อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำ
· อาการย้ำคิด เป็นการคิดถึงสิ่งหนึ่งวนไปวนมาแต่ยังไม่ตัดสินใจลงมือทำ เช่น คิดมากว่าลืมปิดประตูบ้านหรือไม่ แต่ยังไม่ได้ปิด
· อาการย้ำทำ ผู้ป่วยจะทำทุกอย่างมากกว่าปกติ เช่น ล้างมือบ่อยครั้งอย่างไม่มีเหตุผล และไม่สามารถหยุดทำได้ เป็นต้น
แม้ว่าการดึงผมซ้ำ ๆ อาจมีความใกล้เคียงกับชื่อโรคย้ำคิดย้ำทำ แต่พอดูอาการของโรคแล้ว อาการของโรคย้ำคิดย้ำทำดูไม่เหมือนกับอาการโรคดึงผม เพราะโรคย้ำคิดย้ำทำนั้นเกิดจากความกังวลแต่โรคดึงผมนั้นเกิดจากการเสพติดพฤติกรรม อ่านมาถึงจุดนี้แล้วบางคนก็อาจจะสงสัยว่า ดึงทีละเส้นสองเส้น ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคดึงผมไหม เราลองมาดูกันว่าดึงผมแบบไหนถึงนับว่าเป็นโรคดึงผม
ดึงผมแบบไหนถึงนับว่าเป็น ‘โรคดึงผม’
โดยปกติเส้นผมของคนเราจะร่วงลงในทุก ๆ วันด้วยกลไกตามธรรมชาติ แต่เมื่อใดที่ผมร่วงที่เกิดจากการดึงผม และเกิดขึ้นในบริเวณเดิม ๆ จนเส้นผมบางเป็นหย่อม อาจเรียกว่าเข้าขั้นเสพติด สามารถสันนิษฐานได้ว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคดึงผม หรือโรคดึงผมตนเอง (Trichotillomania)
โดยผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การดึงเส้นผมเท่านั้น ยังสามารถเกิดกับการดึงขนคิ้ว ขนตา ขนรักแร้ หนวด เครา เป็นต้น ที่สำคัญคือการดึงผมหรือเส้นขนเกิดขึ้นได้ทั้งแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยโรคดึงผมถูกจัดอยู่ในอาการทางจิตเวชกลุ่มย้ำคิดย้ำทำ พบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่น และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สาเหตุของโรคดึงผม
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุของโรคอย่างแน่ชัด แต่ก็มีหลายสมมติฐานที่เชื่อว่าเป็นปัจจัยให้เกิดการเป็นโรคดึงผม เช่น
· การเป็นโรคต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับหนังศีรษะหรือผิวหนัง
· การขาดสมดุลของระดับสารสื่อประสาทในสมอง
· ความผิดปกติของสมองระหว่างส่วนที่เชื่อมโยงการควบคุมอารมณ์ การเคลื่อนไหว การสร้างนิสัย ความเคยชิน และความยับยั้งชั่งใจ
· ความเครียด ความกดดัน ความวิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ
· การเป็นโรคซึมเศร้า
· พันธุกรรม
· การไม่พึงพอใจในรูปลักษณ์ของตนเอง หรือการมีความพึงพอใจในตนเองต่ำ (Low self-esteem)
การวินิจฉัยและแนวทางการรักษา
สำหรับการวินิจฉัยแพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติสุขภาพ ตรวจร่างกายโดยเน้นในบริเวณหนังศีรษะหรือผิวหนัง บางกรณีอาจมีการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจหาการติดเชื้อ หรือเอกซเรย์ หรือตรวจเลือดเพื่อให้แน่ใจว่า โรคไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพในด้านอื่น ๆ ในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคดึงผม จะทำการส่งตัวไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อประเมินอาการ และออกแบบการรักษาให้เหมาะกับแต่ละบุคคลต่อไป
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- ผู้ป่วยอาจหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมเนื่องจากไม่มั่นใจในเส้นผมหรือเส้นขนที่ไม่เหมือนเดิม มีปัญหาเกี่ยวกับภาพลักษณะของตัวเองรวมถึงความพึงพอใจในของตนเองจนกระทบต่อการใช้ชีวิตและความสัมพันธ์ต่าง ๆ
- เกิดการสูญเสียเส้นผมหรือเส้นขนอย่างถาวร บางกรณีเกิดความเสียหายกับผิวหนังหรือเกิดการติดเชื้อ รวมถึงโรคผิวหนังอื่น ๆ
- ในกรณีของผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมรับประทานเส้นผมหรือเส้นขนร่วมด้วย อาจเกิดภาวะขาดสารอาหารหรือลำไส้อุดตันได้
โรคดึงผมป้องกันได้
สิ่งที่มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคผมดึงผม คือการลดความเครียด ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยของการเกิดโรค พยายามมองหาและทำกิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลายให้กับตนเอง และใช้เวลากับผู้คนรอบข้างที่พร้อมมอบพลังบวกให้ ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัว คนรัก หรือเพื่อน ก็จะสามารถห่างไกลจากโรคนี้ได้
ถือว่าเป็นโรคที่ค่อนข้างใกล้ตัวมาก ๆ แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหมั่นสังเกตตัวเอง และเพื่อสุขภาพจิต กาย ใจ ที่ดีของตนเอง สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าที่มีอาการคล้ายกับที่กล่าวมาข้างต้น สามารถตรวจสุขภาพจิตใจออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/MindHealth
แหล่งที่มาของข้อมูล
· เว็บไซต์พบแพทย์
· โรงพยาบาลรามาธิบดี
· โรงพยาบาลราชวิถี
· โรงพยาบาลจุฬา
· โรงพยาบาลเพชรเ
http://bitly.ws/Dd2o
