ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
21 พฤษภาคม 2566

มารู้จักกับภาวะลาออกจากงานเงียบ ๆ หรือ Quiet Quitting

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนคงต้องเคยได้เห็นคำว่า Quiet Quitting หรือการลาออกเงียบ ๆ ผ่านโซเชียลมีเดียกันมาบ้าง วันนี้เราจึงอยากมาแชร์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกัน

 

Quiet Quitting หรือการลาออกเงียบ ๆ คืออะไร

              Quiet Quitting คือ แนวคิดในการถอนตัวออกจากงานอย่างเงียบ ๆ หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ภาวะที่คน ๆ หนึ่งไม่รู้สึกอยากจะทุ่มเทให้กับงานอีกต่อไป โดยคนเหล่านี้จะเข้างานและเลิกงานตรงเวลาเป๊ะ และเลือกทำงานในปริมาณที่ระบุใน Job Description เท่านั้น ไม่รู้สึกว่าตนเองจะต้องกระตือรือร้นหรืออุทิศตัวให้กับงาน หรืออาจจะเรียกได้ว่าอยู่ในสภาวะหมดไฟนั่นเอง

                  คนที่มีแนวคิดนี้จะหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตส่วนตัวมากขึ้น และไม่รู้สึกว่าการทำงานหนักคือการตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป โดยแนวคิดนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางมากขึ้นในโลกของ Social Media

 

อะไรคือต้นเหตุของ Quiet Quitting

              แม้ Quiet Quitting กำลังเป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจแต่ก็ไม่ใช่แนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยนี้ โดย รศ.แอนโทนี คล็อตซ์ อาจารย์ที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน (University College London - UCL) ได้กล่าวไว้ว่า แนวคิดนี้ได้มีมานานหลายทศวรรษแล้วภายใต้ชื่ออื่น เช่น ความไม่ผูกพันกับงานและองค์กร เป็นต้น แต่ด้วยการระบาดของ COVID 19 ทำให้คนพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น เรื่องนี้จึงถูกนำมาพูดถึงนั่นเอง โดย Quiet Quitting มีสาเหตุจากการที่พนักงานไม่มีความสุขกับงานที่ทำ และไม่ได้อยู่ในสถานะที่ลาออกจากงานได้ เช่น

·       ทักษะของพนักงานบางกลุ่มอาจจะไม่สามารถถ่ายโอนให้คนอื่นได้ ทำให้คนนั้นต้องรับภาระหรืองานที่หนักเพียงคนเดียว

·       ความยืดหยุ่นและผลประโยชน์ที่กำลังได้รับจากบริษัทไม่สามารถได้รับการทดแทนจากที่อื่นได้

·       การอาศัยอยู่ในชุมชนเล็ก ๆ ที่ขาดโอกาส

·       สภาพเศรษฐกิจที่ทำให้การลาออกจากงานนั้นมีความเสี่ยงสูง

·       การทำงานที่มากเกินหน้าที่ความรับผิดชอบจนเกิดเป็นความเครียดสะสม

 

ประเภทของคนที่เป็น Quiet Quitter

Quiet Quitter สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

·       คนที่ไม่ได้วางแผนจะลาออกแต่ก็ไม่ได้ทุ่มเทกับงาน (The Passive Quiet Quitter)

คนกลุ่มนี้จะทำงานเพียงปริมาณต่ำสุดของหน้าที่ และมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มักจะพฤติกรรมแบบที่เรียกว่า “อยู่เป็น” หรือการเห็นด้วยไปกับสิ่งต่าง ๆ ไปเพียงคำพูด แต่แท้จริงแล้วไม่ได้รู้สึกอยากมีส่วนร่วมหรืออยากพัฒนาให้งานมีคุณภาพมากขึ้น

·       คนที่วางแผนจะลาออก (The Active Passive Quiet Quitter)

คนกลุ่มนี้จะรู้ตัวว่าตัวเองไม่มีใจอยากจะทำงานที่นี่อีกต่อไป และคอยมองหาหนทางในการย้ายงาน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะยังคงทำงานตามหน้าที่แต่ในขณะเดียวกันก็คอยมองหาโอกาสที่จะทำให้ได้ออกไปสู่งานงานใหม่อยู่ตลอดเวลา

 

6 สัญญาณเตือน Quiet Quitting

              1. ไม่รู้สึกกระตือรือร้นในการทำงานที่ได้รับมอบหมายตามหน้าที่

                  2. ทำงานเพียงแค่ปริมาณขั้นต่ำตามมาตรฐานที่กำหนดใน Job Description เท่านั้น

                  3. แยกตัวออกจากเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ

                  4. ถอนตัวออกจากบทสนทนา หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น

                  5. เข้าร่วมประชุมแต่ไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นหรือตัดสินใจทำอะไร

                  6. เพื่อนร่วมงานในทีมเริ่มมีการร้องเรียนถึงปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น

 

Quiet Quitting แก้ไขได้อย่างไร

·       หัวหน้างานควรรับฟังและทำความเข้าใจ

เพราะบางครั้งคนในทีมอาจจะกำลังเผชิญกับปัญหาส่วนตัวที่ส่งผลกระทบกับการทำงาน การรับฟังจะเป็นประตูด่านแรกให้คนในทีมรู้สึกถึงการยอมรับและใส่ใจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานและหนทางการแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด

·       เปิดรับ Feedback

อาจจะเป็นการทำแบบสอบถามแบบไม่ระบุตัวตน หรือการพูดคุยแบบตัวต่อตัว เพื่อรับฟังปัญหาที่แท้จริง

·       สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทีม

ผู้นำที่ดีคือ ผู้นำที่สามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยในคนในทีมสามารถสร้างสรรค์และสื่อสารความคิดได้อย่างตรงไปตรงมา เพื่อเป้าหมายในการพัฒนางานให้ดีขึ้น

·       คอยระวังความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่อาจเกิดขึ้น

ปัญหาการเมืองภายในที่ทำงานเป็นอีกปัจจัยที่ผลักให้คน ๆ หนึ่งสามารถหมดไฟและรู้สึกอยากถอนตัวออกจากงานได้ แม้ว่างานที่ทำจะเป็นงานที่รักก็ตาม

·       ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของคนในทีมมาเป็นอันดับแรก

งานที่ดีจะขับเคลื่อนได้ดีจากคนทำงานที่มีความสุข ดังนั้นเมื่อได้รับสัญญาณว่ามีคนในทีมเริ่มไม่มีความสุขหรือกำลังเจอกับปัญหาสุขภาพจิต ผู้นำควรหาทางยื่นมือเข้าไปช่วย

 

ชีวิตการทำงานคือช่วงเวลา 3 ใน 4 ของชีวิต การได้ทำงานอย่างมีความสุขจึงเป็นเหมือนความฝันที่ใคร ๆ ก็ต้องการ แต่ในโลกของความเป็นจริงบางครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นก็ทำให้บั่นทอนจนอยากจะถอนตัวจากงานไปเงียบ ๆ การรู้เท่าทันสภาพจิตใจที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเองหรือคนในทีมจึงอาจจะเป็นกุญแจที่ช่วยให้ชีวิตการทำงานกลับมามีความสุขอีกครั้งก็เป็นได้

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต สามารถทดสอบแบบประเมินแนวโน้มความเครียดและภาวะหมดไฟได้ที่ https://istrong.center/test/burnout/

 

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       Psychology Today
https://www.psychologytoday.com/intl/blog/optimized/202211/quietly-quitting

·       Forbes
https://bit.ly/3IIKbej

·       Workpoint Today
https://workpointtoday.com/what-is-quiet-firing/

·       BBC
https://www.bbc.com/thai/articles/cv214yyp481o

บทความสุขภาพที่สำคัญ