ไม่มีข้อมูล

ค้นหาในทุกหมวด
*โปรดระบุคำค้นหา
06 มกราคม 2566

Sick Building Syndrome โรคตึกเป็นพิษ ภัยร้ายของชาวออฟฟิศคนเมือง

ในช่วงนี้สถานการณ์ COVID-19 เริ่มดีขึ้น หลาย ๆ คนก็เริ่มกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ไม่ว่าจะเป็นทั้งแบบ Hybrid หรือแบบเต็มตัว แต่มีโรคหนึ่งที่อาจเป็นภัยเงียบภัยร้าย ที่ค่อย ๆ แทรกซึมระหว่างเราทำงานในที่ทำงานโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นก็คือโรคตึกเป็นพิษหรือ Sick Building Syndrome นั่นเอง วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนมารู้จักกับโรคตึกเป็นพิษว่า เกิดจากอะไร มีอาการอย่างไรบ้าง พร้อมบอกวิธีการป้องกัน ช่วยให้เราทำงานได้อย่างมีความสุขและปลอดภัยกับสุขภาพร่างกาย

 

โรคตึกเป็นพิษคืออะไร

              โรคตึกเป็นพิษหรือ Sick Building Syndrome (SBS) คือ สภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับมลภาวะจากภายในอาคาร โดยทั่วไปแล้วจะเกิดจากที่ทำงาน แต่ก็อาจจะเป็นอาคารใดก็ได้เช่นเดียวกัน รวมไปถึงในบ้านของตัวเองด้วย โดยอาการจะหายไปเองเมื่อเดินออกไปนอกตัวอาคาร ซึ่งโดยปกติแล้วอาการมักจะเกิดบริเวณตา จมูก ลำคอ ทางเดินหายใจส่วนล่าง และผิวหนัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เป็นต้นเหตุของอาการ

 

ต้นเหตุของโรคตึกเป็นพิษ

ได้รู้จักกับโรคตึกเป็นพิษไปแล้ว ทีนี้มาดูกันว่ามลพิษภายในอาคารที่เป็นต้นเหตุของโรคตึกเป็นพิษนั้นเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง

·       วัสดุโครงสร้างของอาคาร

·       สารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ภายในอาคาร เช่น น้ำยาถูพื้น สีที่ใช้ทาในตัวอาคาร เป็นต้น

·       อากาศถ่ายเทไม่เพียงพอ โดยเฉพาะระบบปรับอากาศและระบายอากาศภายในอาคาร

·       ควัน ฝุ่น หรือมลพิษในบริเวณใกล้เคียง

·       อุปกรณ์สำนักงาน เช่น จอคอมพิวเตอร์ที่ไม่กรองแสงจนทำอันตรายต่อสายตา

·       แสงสว่างที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป

·       เสียงดังเกิน 85 เดซิเบลที่ดังติดต่อกัน 8 ชม. ต่อวัน

·       ความร้อนและความชื้นภายในอาคาร

·       ก๊าซเรดอน และแร่ใยหินในตัวอาคาร

·       แบคทีเรีย เชื้อราต่าง ๆ

 

ไม่เพียงแต่สภาพแวดล้อมหรือวัสดุของอาคารเพียงอย่างเดียวที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรค แต่ยังมีปัจจัยด้านสุขภาพที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่ อาการแพ้ต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ฝุ่น แพ้ไรฝุ่น ความเครียดสะสม และโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น

 

อาการของโรค

·       รู้สึกไม่สบายเฉียบพลัน

·       ปวดศีรษะ ปวดท้อง

·       ปวดเมื่อยตามร่างกาย

·       ระคายเคืองตา หู จมูก คอ

·       แสบร้อนในจมูก มีน้ำมูก

·       จาม ไอ อย่างต่อเนื่อง

·       หนาว เป็นไข้

·       คลื่นไส้

·       ผิวแห้ง เป็นผื่น

·       รู้สึกไม่กระตือรือร้น ไม่มีแรงทำงาน อ่อนเพลีย

·       รู้สึกหงุดหงิด หรือหลงลืม

·       แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก

·       ไม่มีสมาธิ

 

แนวทางการรักษา

                  ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่เจาะจงเฉพาะของโรค แต่จะเป็นการรักษาเพื่อบรรเทาอาการ และให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่จะทำให้อาการกำเริบ เช่น

·       ใช้ยาฟลูออกซิทีนเพื่อบรรเทาความเครียดและช่วยให้นอนหลับสนิท

·       ใช้ยาแก้แพ้ในกรณีที่เกิดอาการคันตามอวัยวะต่าง ๆ

·       ใช้ยารักษาโรคหอบหืดเมื่อมีอาการหายใจลำบาก

 

วิธีการป้องกัน

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น โรคตึกเป็นพิษเกิดจากสภาวะแวดล้อมที่เป็นพิษ ดังนั้นถ้าหากเราคอยตรวจสอบและปรับเปลี่ยนสภาวะแวดล้อมให้ดีอยู่เสมอ ก็จะสามารถป้องกันโรคตึกเป็นพิษได้ ซึ่งเราสามารถทำได้ดังนี้

·       กำจัดแหล่งสารปนเปื้อนเพื่อลดปริมาณมลพิษทางอากาศ

·       จัดระบบเครื่องปรับอากาศและระบายอากาศให้เหมาะสม

·       เปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

·       เปลี่ยนอุปกรณ์ในสำนักงานที่เก่าและก่อให้เกิดมลภาวะ เช่น เครื่องพิมพ์เอกสาร จอคอมพิวเตอร์ หลอดไฟ

·       ดูดฝุ่นหรือทำความสะอาดบริเวณที่ทำงาน ให้สะอาด เรียบร้อย ปราศจากเชื้อโรคและไรฝุ่น

·       ใช้สีทาผนังชนิดที่ไม่มีโลหะหนักผสม

·       ควบคุมระดับเสียงภายในอาคารให้ไม่เกิน 85 เดซิเบล

·       ป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อราโดยการหลีกเลี่ยงการตากผ้าเปียกในอาคาร

·       ไม่ควรทิ้งขยะค้างคืนไว้เพราะจะเป็นแหล่งอาหารของแมลงสาบ รวมถึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคอีกด้วย

·       หาต้นไม้ในร่มมาปลูกไว้ในตัวอาคาร เพื่อช่วยฟอกอากาศ

 

หากเริ่มมีอาการของโรคตึกเป็นพิษแสดงออกมา ลองมองดูรอบ ๆ ว่ามีปัจจัยไหนที่เข้าข่ายสิ่งที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ บางทีอาจจะถึงเวลาที่จะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนบางอย่างในออฟฟิศแล้วก็ได้ สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิต ที่สนใจในการดูแลสุขภาพสามารถอ่านบทความด้านสุขภาพอื่น ๆ ได้ที่ https://www.krungthai-axa.co.th/th/health-advisories

 

แหล่งที่มาของข้อมูล

·       National Health Service UK (NHS UK)
https://www.nhs.uk/conditions/sick-building-syndrome/

·       งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
https://bit.ly/3pUqLs5

·       สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
https://www.tosh.or.th/index.php/blog/item/938-sick-building-syndrome-sbs
https://www.youtube.com/channel/UCNL4wRj167iBnq3oDrkSCIg

·       เว็บไซต์พบแพทย์
https://bit.ly/3R7PPbe

Asianparent
https://bit.ly/3L95uVi

บทความสุขภาพที่สำคัญ